“ธุรกิจ-การจ้างงาน"ไทยจะฟื้นอย่างไร...หลังคลายล็อกดาวน์

“ธุรกิจ-การจ้างงาน"ไทยจะฟื้นอย่างไร...หลังคลายล็อกดาวน์

สรุปข่าว

อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น เชื่อว่าท่านผู้ชมที่ติดตามข่าว และรายการเรามาตลอด ตั้งแต่เริ่มโครงการเยียวยามีดราม่าอะไรมากมายแต่ถึงวันนี้คือจะพูดได้ว่าเป็นความสำเร็จของภาครัฐก็ว่าได้ แต่ในที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่รับเงินเยียวยา จะสามารถใช้ประโยชน์จากก้อนเงินดังกล่าวได้มากน้อยแค่ไหน ทำให้เงินกลับมาหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าไหร่ 

ก่อนอื่นเรามาสรุปกันก่อนว่า   การจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทในโครงการเราไม่ทิ้งกัน  ที่ครอบคลุมทั้ง 66 ล้านคน และแบ่งกลุ่มประชาชนที่ได้ความช่วยเหลือออกเป็น 5 กลุ่ม นี้ใครได้บ้าง


 1.กลุ่มแรงงานในระบบประกันสังคมจำนวน 11 ล้านราย ที่จะได้รับเงินเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคมของกระทรวงแรงงาน, 

2.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ 15 ล้านราย ซึ่งจะได้รับการเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท รวมเป็นระยะเวลา 3 เดือน ผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกันของกระทรวงการคลัง ซึ่งปัจจุบันได้มีผู้ผ่านเกณฑ์เยียวยาแล้ว 15 ล้านราย

3.กลุ่มเกษตรกรอีก 10 ล้านราย ซึ่งอยู่ในความดูแลเยียวยาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการจ่ายเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งการจ่ายเงินนั้นได้เริ่มดำเนินการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 63 กลุ่มข้าราชการ ลูกจ้างหน่วยงานราชการและท้องถิ่น รวมถึงพนักงานรัฐวิสาหกิจรวมกว่า 3 ล้านราย ซึ่งรัฐบาได้ดูแลโดยการไม่ลดวันทำงาน ไม่ลดเงินเดือน 

โดยการช่วยเหลือแก่ทั้ง 4 กลุ่มนี้จะคิดเป็นจำนวนแรงงานทั้งสิ้น 40 ล้านราย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มคนที่ยังเข้าไม่ถึงมาตรการ และรัฐบาลกำลังเตรียมให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเป็นกลุ่มที่ 5 คือกลุ่มคนที่มีความเปราะบางทางสังคม เช่น เด็กแรกเกิด ผู้พิการ และคนชรา ซึ่งมีอีกประมาณ 13 ล้านราย ทั้งนี้ กลุ่มคนดังกล่าวจะอยู่ในความดูแลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งกำลังเตรียมที่จะเสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือ โดยคาดว่าจะออกมาได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ 6. คือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีกราว 14.6 ล้านราย โดยพบว่ายังไม่ได้รับความช่วยเหลือเนื่องจากไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 1-4 ที่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลอีกประมาณ 2.4 ล้านราย

ส่วนกลุ่มที่ 7. คือกลุ่มคนที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จจากมาตรการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการคลังได้พบตัวตนของผู้ลงทะเบียนในกลุ่มนี้แล้ว ซึ่งจะเตรียมให้ความช่วยเหลือเช่นเดียวกับกลุ่มที่มีอาชีพอิสระ 

และกลุ่มที่ 8. คือกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสังคมในกรณีรัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน อีก 1 ล้านราย โดยกลุ่มนี้กระทรวงพัฒนาสังคมฯ จะเข้าช่วยเหลือต่อไป

เมื่อนำรายชื่อของประชาชนที่อยู่ในกลุ่มที่ 5-8 ไปตรวจสอบตรวจสอบความซ้ำซ้อนในการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลแล้ว จะพบว่า ยังมีคนอีกไม่เกิน 12.5 ล้านราย ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล แต่หากรวมกลุ่มเยาวชนเข้าไปด้วยก็จะมีประมาณ 13.5 ล้านราย

ผลกระทบจากการระบาดที่ยังมีความไม่แน่นอนและแนวโน้มการหดตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยทั้งในภาคการผลิต ภาคการบริการ และภาคการส่งออก ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ทําให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่ยังคงมีสถานการณ์การระบาด โลก เหลือเพียงการใช้ทรัพยากรของภาครัฐและความสามารถในการจัดหาทรัพยากรในการพยุงเศรษฐกิจ

การฟื้นฟูเศรษฐกิจและ สังคมในช่วงปี 2563 จําเป็นต้องมุ่งเน้นในสาขาเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ในระยะถัดไป และสามารถกระตุ้น ให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นเพื่อลดผลกระทบจากการหดตัวของภาคเศรษฐกิจสําคัญ 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินแนวโน้มลักษณะการฟื้นตัวของภาคธุรกิจภายหลังการทยอยผ่อนคลายล็อกดาวน์ โดยพิจารณาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1) ความน่าจะเป็นในการทยอยปลดล็อกทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกของแต่ละธุรกิจ รวมถึงความจำเป็นของลักษณะสินค้าต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้บริโภค

2) ปัจจัยเสี่ยงด้านโครงสร้างธุรกิจที่มีอยู่เดิมและมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบอย่างหนักแม้ปลดล็อกดาวน์ไปแล้ว เนื่องจากกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งจากวิเคราะห์ร่วมกัน 2 ปัจจัยดังกล่าว เราพบว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจหลังปลดล็อกดาวน์ สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มการฟื้นตัว ดังนี้


1. กลุ่มธุรกิจฟื้นแบบ V-Shape (ภายใน 3 เดือน) ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค บรรจุภัณฑ์ โรงพยาบาล/ คลินิกและยารักษาโรค ฟาร์มไก่ ฟาร์มหมู อาหารสัตว์ ไอทีและสื่อสาร กลุ่มนี้จะเริ่มฟื้นตัวกลับมา จากลักษณะสินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันและส่วนใหญ่พึ่งพิงตลาดในประเทศ ซึ่งทำให้ธุรกิจเหล่านี้ยังคงการจ้างงานที่มีอยู่จำนวน 4.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 29.6% ของการจ้างงานรวมของภาคธุรกิจที่จดทะเบียนธุรกิจ ซึ่งกระจายตัวไปในธุรกิจผลิต-ขายปลีก ขายส่งสินค้าอุปโภคบริโภคมากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มธุรกิจสุขภาพและผลิตไฟฟ้า เป็นต้น


2. กลุ่มธุรกิจฟื้นแบบ U-Shape (ในช่วง 3-6 เดือน) ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ พลังงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางบกและทางเรือ บริการธุรกิจ รับเหมาก่อสร้าง กลุ่มนี้จะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปจากการคลายล็อกดาวน์ของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ต้องอาจใช้เวลาพอสมควรกว่าการคลายล็อกดาวน์จะครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ และช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้ทยอยจ้างงานเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนข้าง จากการจ้างงานปกติอยู่ที่ 6.4 ล้านคนหรือมีสัดส่วน 39.5% กระจายตัวไปในธุรกิจบริการทางธุรกิจ รับเหมาก่อสร้างและอาหารเครื่องดื่ม


3. กลุ่มธุรกิจฟื้นแบบ L-Shape (มากกว่า 6 เดือน) ได้แก่ โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจการบิน ธุรกิจบันเทิงและการกีฬา ยานยนต์และชิ้นส่วน อสังหาริมทรัพย์ เฟอร์นิเจอร์ สินค้าแฟชัน เหล็ก ยางพารา คาดว่ากลุ่มนี้อาจจะฟื้นตัวไม่ทันปีนี้ แม้ว่าปลดล็อกดาวน์แล้วแต่ยังคงได้ผลกระทบจากโควิด จากมาตการรัฐและพฤติกรรมของผู้คนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและติดเชื้อ และที่สำคัญกลุ่มนี้ยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านกำลังซื้อที่หดหายไป รวมถึงปัจจัยเสี่ยงภายในธุรกิจจากภัยธรรมชาติ การแข่งขันภายในธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี กฎระเบียบของภาครัฐ ฯลฯ คาดว่าในปี 2564 ธุรกิจเหล่านี้จะกลับจ้างงานได้ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ที่จำนวน 5 ล้านคน หรือมีสัดส่วน 30.9% กระจายไปอยู่ในธุรกิจร้านโรงแรมร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์และกลุ่มยานยนต์

ทั้งนี้ ระยะเวลาการฟื้นตัวแต่ละธุรกิจไม่เท่ากัน ดังนั้น ผู้ประกอบการมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมพร้อมรับกับลักษณะการฟื้นตัวและกำหนดกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับธุรกิจ เช่น ถ้าธุรกิจฟื้นตัวแบบ V-Shape อาจจะพิจารณาให้ฝ่ายการตลาดเริ่มพูดคุยกับลูกค้าถึงสินค้าที่จะขายและเริ่มมองหาตลาดใหม่เพิ่มเติม และหากธุรกิจฟื้นตัวแบบ U-Shape อาจจะพิจารณาจัดการแผนการผลิตและการตลาดในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าว่าจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดรวมถึงใช้ช่องทางการขายออนไลน์มากขึ้น และหากธุรกิจฟื้นตัวแบบ L-Shape จำเป็นต้องทำงานหนักมากขึ้นเพราะเป็นธุรกิจที่ตกที่นั่งลำบาก เพราะสิ่งที่เผชิญไม่ใช่แค่โรคระบาด COVID-19 แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรมและปัญหากำลังซื้อต่อสินค้าลดลง 

ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการทำงานให้มีประสิทธิภาพพร้อมทั้งลดต้นทุนให้มากที่สุดเพื่อจะฟื้นกลับมาได้เร็วในปีหน้า สำหรับภาครัฐสามารถนำลักษณะการฟื้นตัวของ 3 กลุ่มธุรกิจข้างต้นไปกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างให้เหมาะสมตามการฟื้นตัวได้ด้วยเช่นกัน


ก่อนหน้านี้ กลุ่มผู้ประกอบการเองรัฐก็มีมาตรการช่วยเหลือออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย ต่าง ๆ ค่าน้ำค่าไฟ ภาษี  หรือกรณีที่ไม่ลดพนักงาน  นอกจากนี้ก็ยืดเวลาการชำระภาษีออกไป เป็นต้น 

 


นอกจากนี้ก็มีเยียวยาผู้ประกอบการด้านอื่นๆ อีก เช่นการชดเชยรายได้  เร่งคืนแวตให้กับผู้ส่งออก  จัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้  ซอฟโลน  วงเงิน 5 แสนล้านบาท  และอีก 8 หมื่นล้านบาท สำหรับนอนแบงก์  รวมทั้งมีการพักชำระหนี้  ปรับปรุงโครงสร้างหนี้  และมาตรการเสริมอีก มากกมาย ไม่ว่าจะเป็นการคืนเงินค่าประกัน การใช้ไฟฟ้าและการใช้น้ำประปา เป็นต้น 


วิกฤตที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะการจ้างงาน การประกอบอาชีพของประชาชน และการดําเนิน ธุรกิจของผู้ประกอบการ ทําให้ในระยะสั้นจําเป็นต้องลดผลกระทบของประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม และ ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถดําเนินธุรกิจ ต่อไปได้ เพื่อรักษาการจ้างงานในภาพรวมของประเทศ  


ติดตามรายการเศรษฐกิจ Insight 

ตอน “ธุรกิจ -การจ้างงาน"ไทยจะฟื้นอย่างไร...หลังคลายล็อกดาวน์

ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=uz9F_daz1QE


เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

มาตรการเยียวยา
แรงงานในระบบ
แรงงานนอกระบบแรงงานอาชีพอิสระ
กลุ่มคนเปราะบาง
โควิด
โควิด19
ไวรัสโคโรนา