

สรุปข่าว
วันนี้ ( 18 ก.พ. 63) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP ในฐานะ ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคและพลังงานแบบครบวงจร แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม และเขตประกอบการอุตสาหกรรม ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนานวัตกรรมพลังงานด้านต่างๆ เช่น ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะในพื้นที่อุตสาหกรรม (Smart Microgrid) โครงสร้างตลาดไฟฟ้า (Peer-to Peer Energy Trading) โครงสร้างอัตราค่าบริการรูปแบบใหม่ (Net Metering) ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป โดยการศึกษาบางส่วนจะยื่นเสนอเพื่อเข้าร่วมโครงการทดลองนวัตกรรมพลังงานของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ ERC Sandbox ซึ่งได้จัดพิธีลงนามไปเมื่อวานนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายนิพนธ์ บุญเดชานันทน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHAUP เปิดเผยว่า บริษัทฯเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรม เพื่อพัฒนาระบบการผลิตและบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่อุตสาหกรรม เนื่องจากมองว่า เป็นการรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงานสู่การผลิตไฟฟ้าแบบกระจายตัว และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มเสถียรภาพด้านพลังงานให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่อุตสาหกรรม และเพิ่มโอกาสการลงทุนให้กับบริษัทฯ ซึ่งตามแผนจะมีการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (Gas-fired Cogeneration Power Plant) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) และระบบเก็บกักพลังงาน (Energy Storage System)
โดย มั่นใจว่าบริษัทฯ มีความพร้อมที่จะเป็นผู้ลงทุนโครงการดังกล่าว เพราะมีประสบการณ์ในการพัฒนาและลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยตามแผนในปี 2563 บริษัทฯจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นทั้งสิ้นอยู่ที่ 591 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัทฯมีฐานลูกค้าที่สามารถรองรับการให้บริการเป็นจำนวนมาก ภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัทฯ รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจากการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ โดยคาดว่า การพัฒนานวัตกรรมและระบบการบริหารจัดการพลังงานดังกล่าว จะมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนและเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและคาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก และหากนำมาขยายผลเป็นวงกว้างในพื้นที่อื่นๆ ก็จะเป็นการช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand
ที่มาข้อมูล : -