สภาพัฒน์แจงที่มารายงานความเสี่ยงประกอบธุรกิจปี2019

สภาพัฒน์แจงที่มารายงานความเสี่ยงประกอบธุรกิจปี2019

สรุปข่าว

วันนี้ (16พ.ย.62) นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะโฆษกสำนักงานฯชี้แจงว่า สภาเศรษฐกิจโลก (WEF) มีการจัดทำรายงาน Regional risks for doing business report โดยร่วมกับธุรกิจด้านประกันภัยและบริหารความเสี่ยง Marsh & McLennan Companies and Zurich Insurance Group เป็นครั้งแรกในปี 2018 ซึ่งรายงานในปี 2019 นี้ เป็นการจัดทำครั้งที่ 2เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการหารือของผู้บริหารจากทั่วโลกที่จะเข้าร่วมการประชุมประจำปีของสภาเศรษฐกิจโลกที่เมือง ดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในเดือน ม.ค. 2563 

รายงานนี้ใช้วิธีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้บริหารภาคธุรกิจ ในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2562โดยใช้คำถามว่า “From the following list, check the five global risks that you believe to be of most concern for doing business in your country within the next 10 years” สำหรับแบบสอบถามภาษาไทยที่ดำเนินการในประเทศไทยโดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (WEF Partner Institute) ใช้ข้อความว่า “จากรายการด้านล่างนี้ โปรดเลือกความเสี่ยงระดับโลกมา 5 รายการ ที่คุณเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงมากที่สุดในการทำธุรกิจในประเทศของคุณใน 10 ปีข้างหน้า” โดยให้เลือกจากรายการความเสี่ยง 30 ประการ

ทั่วโลกมีผู้ตอบแบบสอบถาม 12,000 กว่าคน ขณะที่ ในประเทศไทยมีผู้ตอบแบบสอบถามรวม 102 คน ซึ่งอาจไม่สะท้อนความจริงในภาพรวมของสถานการณ์ปัจจุบัน โดยความเสี่ยงที่นักธุรกิจไทยแสดงความกังวลมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ 1) Asset bubble 2) Failure of national governance 3)Cyberattacks4)Manmade environmental catastrophes และ 5)Profound social instability 

นายดนุชา ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในห้วงเวลาของการสำรวจแบบสอบถามเป็นห้วงเวลาที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเตรียมการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลต่อการตอบแบบสอบถามโดยเฉพาะในเรื่องของความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ โดยความเสี่ยงในประเด็น Asset bubble นั้น ในห้วงเวลาดังกล่าว อัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงและราคาของอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาจทำให้ภาคธุรกิจมีความกังวล ซึ่งในเรื่องนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงที่เข้มงวดรองรับอยู่แล้ว 

ในประเด็น Failure of national governance เป็นตัวชี้วัดที่มีนิยามกว้าง และในบริบทของรายงานนี้ หมายถึงระบบธรรมาภิบาล การทุจริตคอร์รัปชั่น การบริหารจัดการเชิงสถาบันมากกว่าการเจาะจงไปที่การบริหารงานของรัฐบาลในภาพรวม ในขณะที่ประเทศมาเลเซียเองมีข้อกังวลในด้านนี้เช่นกัน โดยอยู่ที่อันดับที่ 4 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้วและมีการเร่งขับเคลื่อนนโยบายอย่างเต็มที่ ซึ่งไม่มีอะไรน่ากังวล และรัฐบาลมีความพยายามในการปฏิรูปและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาครัฐมาอย่างต่อเนื่องผ่านกลไกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลากว่าจะเห็นผล โดยมีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น สำหรับประเด็นCyberattacksได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แล้ว ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้กับภาครัฐและเอกชนมากขึ้น

ในส่วนประเด็นManmade environmental catastrophes เนื่องจากประชาชนรับทราบและมีความตระหนักและรับรู้ในเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งมีความรุนแรงในช่วงต้นปีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการรองรับแล้ว เช่น เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจคุณภาพรถขนส่ง ส่วนปัญหาขยะพลาสติก สังคมได้มีการตื่นตัวในการลดการใช้พลาสติกมากขึ้น 

นอกจากนี้ ประเด็นProfound social instability การรับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ อาจทำให้ประชาชนมีการตีความไปในหลายด้านมีความหลากหลายทางความคิดเกิดการถกเถียงในสังคมเป็นวงกว้าง ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับภาคประชาชน รวมทั้งการลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับรายได้เกษตรกรด้วยการประกันราคาสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์ม เป็นต้น และมีมาตรการบัตรสวัสดิการประชารัฐเพื่อช่วยเหลือในด้านค่าครองชีพ

นายดนุชากล่าวโดยสรุปว่า ความเสี่ยงทั้ง 30 รายการเป็นความท้าทายที่ทุกประเทศและนักธุรกิจทั่วโลกต้องเผชิญอยู่แล้ว แต่มีมิติความรุนแรงแตกต่างกันไปตามบริบทของการพัฒนาของแต่ละประเทศ รายงานดังกล่าวนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จะใช้เปิดประเด็นการหารือของผู้เข้าร่วมการประชุมที่เมืองดาวอสซึ่งมาจากหลายประเทศทั่วโลก เพื่อทำความเข้าใจและหาทางออกร่วมกันในการลดความเสี่ยงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในส่วนของประเทศไทย มีผู้แทนเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง และภาครัฐเองได้ตระหนักถึงความสำคัญพร้อมทั้งมีการรับมือในเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ สภาพัฒน์เป็นหน่วยงานหลักในการติดตามความเคลื่อนไหวของการจัดอันดับโดยองค์กรระหว่างประเทศที่มีความน่าเชื่อถือ และมีความระมัดระวังในการนำข้อมูลมาเผยแพร่ โดยคำนึงถึงความน่าเชื่อถือ หลักการที่มีมาตรฐาน แนวทางในการปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สมคิด' รับเศรษฐกิจไทยซบเซา แต่ไร้ฟองสบู่แตก

สภาเศรษฐกิจโลกชี้ประเทศไทยเสี่ยงฟองสบู่แตกสูงสุด

เกาะติดข่าวที่นี่ 

website: www.TNNThailand.com  
facebook : TNNThailand 
twitter : @TNNThailand 
Line : @TNNThailand 
Youtube Official : TNNThailand


ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

สภาพัฒน์
ความเสี่ยงประกอบธุรกิจ
สภาเศรษฐกิจ
ภาคธุรกิจ