

สรุปข่าว
วันนี้ (26 ก.ย.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควบคุมดูแล และสั่งการให้หน่วยงานในสังกัด ดำเนินการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญของกลุ่มข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ของระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 คือให้คงเหลือเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวกลุ่มข้าราชครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวน 2,919 รายได้ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต่อศาลปกครองกลาง รวม 45 สำนวนคดีว่าละเลยไม่สั่งการให้หน่วยราชการในสังกัดดำเนินการหักเงินให้เป็นไปตามระเบียบฯ ข้อ 7 ที่กำหนดว่า การจะให้ส่วนราชการหักเงิน ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้นั้น จะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 30 เหตุเกิดตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2555
ส่วนเหตุผลที่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าว เนื่องจาก หลังมีการออกระเบียบ สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เสนอออกระเบียบ ได้มีหนังสือลงวันที่ 31 ม.ค.51 แจ้งเวียนให้หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทราบ แต่พบว่าศึกษาธิการจังหวัด ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หัวหน้าสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาฯยังคงหักเงินเดือน เงินบำนาญของผู้ฟ้องคดีแต่ละรายไม่เป็นไปตามระเบียบ และปลัดกระทรวงฯยังยอมรับว่า ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นของผู้ฟ้องคดีแต่ละราย ได้มีการออกหนังสือรับรองเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญและรายการหักเงิน ณ ที่จ่ายย้อนหลังให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่ละราย เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการยื่นคำขอกู้เงินสหกรณ์และกู้เงินสวัสดิการภายในของส่วนราชการ ที่มีการทำความตกลงกับสถาบันการเงิน หรือบริษัทต่างๆ ได้ ซึ่งผู้บังคับบัญชารวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการผู้เบิก ก็ไม่ได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามระเบียบฯ ข้อ 6 และข้อ 7 แสดงให้เห็นว่า ผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดีแต่ละราย ละเลยต่อการปฏิบัติตามระเบียบฯ และกลายเป็นการส่งเสริมให้ข้าราชการในสังกัดเป็นหนี้สินเพิ่มมากขึ้นโดยไม่มีวันจบสิ้น ขัดกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มุ่งเน้นแนวทางการปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับให้ดำเนินไปในทางสายกลาง มีความพอเพียงในการดำรงชีวิต ที่เป็นพื้นฐานสำคัญทำให้คนไทยสามารถพึ่งตนเองและดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีศักดิ์ศรี ภายใต้อำนาจและความมีอิสระในการควบคุมและจัดการปัญหาด้วยตนเอง จึงฟังได้ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ รมว.ศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็ละเลยในในการกำกับดูแลให้ผู้ใต้บังคับบัญชาถือปฏิบัติตามระเบียบเช่นกัน จึงมีคำพิพากษาดังกล่าว
ด้านนายสุวัช ศรีสด ตัวแทนครู กล่าวหลังรับฟังคำพิพากษาว่า ยังมีความยุติธรรมอยู่ เพราะที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ ครูถูกกระทำอย่างมีวาระซ่อนเร้น ภายใต้กฎระเบียบ ซึ่งคำพิพากษาพิสูจน์ว่าครูกำลังทำให้สังคมปกติสุข ที่ผ่านมาหลังโดนหักเงิน ครูบางคนเหลือเงินในบัญชีเพียง 21 – 100 กว่าบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยต่อจากนี้ กลุ่มครูก็จะทำการประนอมหนี้ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ตามที่วางไว้
CR:ภาพประกอบ https://www.mdh.go.th
ที่มาข้อมูล : -