

สรุปข่าว
โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นนโยบายที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือเป็นยุทธศาสตร์ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาประเทศ สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน และเพื่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อไปสู่การดึงดูดนกัลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทย แต่นโยบายดังกล่าวจะสำเร็จได้ตามเป้าหมายหรือไม่
ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังคงติดกับดักรายได้ปานกลาง จนประเทศเพื่อนบ้านมีรายได้ไล่จี้ตามมาติดๆ เหตุจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญๆของไทยแผ่วลง ขีดความสามารถแข่งขันประเทศอยู่ในภาวะถดถอย สะท้อนได้จากอัตราเติบโตของเศรษฐกิจไทยช่วงปี 2552 -2561 ที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 3% เท่านั้น ขณะที่ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนในปี 2556 ถึุงปัจจุบันเป็นบวกบ้าง แต่บางปีก็ติดลบ ที่แน่ๆคือ การลงทุนเติบโตไม่ถึง 4% แม้จะอยู่ในภาวะปกติไม่มีเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง
เช่นเดียวกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ พบว่าในปี 2557 -2560 การลงทุนโดยตรงเฉลี่ยอยู่ที่ 4,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเริ่มขยับขึ้นเมื่อปี 2561 ที่มีเม็ดเงินลงทุนเกิน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อเทียบกับชาติอื่นๆในอาเซียน พบว่า ประเทศไทยยังเป็นรองอยู่มาก โดยเฉพาะเวียดนาม ที่มีเงินลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด ปี 2561 อยู่ที่ 15,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อินโดนีเซีย มีเงินทุนต่างประเทศสูงถึง 21,980 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดังนั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ จันทรโอชา จึงต้องหาทางออกให้เศรษฐกิจไทย ด้วยการยกเครื่องอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศทั้งระบบ โดยมีนโยบายผลักดันโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และตั้งเป้าให้เป็นพื้นที่แม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เน้นการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีความยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 10 อุตสาหกรรม
พร้อมกันรัฐบาลได้ออกมาตรการจูงใจเอกชนมาลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งการยกเว้นภาษีนิติบุคคล 8 ปี และหากเป็นกิจการที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงจะได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคล 5 ปี รวมถึงยกเว้นภาษีต่างๆ เช่น ภาษีนำเข้าเครื่องจักร ภาษีนำเข้าวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก โดยในช่วง 5 ปีรัฐบาล ตั้งเป้าดึงนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย พื้นที่ EEC กว่า 5 แสนล้านบาท และสร้างงานใหม่ 4.75 แสนตำแหน่ง
และหัวใจสำคัญ คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นกระดูกสันหลังของ EEC ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน , โครงการท่าเรือมแหลมฉบังระยะที่ 3 ,โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดพื้นที่ในการสร้างเมืองใหม่อีกหลายแห่งตามแนวโครงสร้างพื้นฐาน กระจายความแออัดจากกรุงเทพและปริมณฑล และเป็นการเปิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลพลเอประยุทธ์จะตั้งเป้าหมายอย่างสูงยิ่งในโครงการ EEC ซึ่งเป็นโครงการยุทธศาสตร์ของประเทศ แต่ในทางปฏิบัติจะเห็นว่า ยังคงมีอุปสรรคให้เห็นอยู่มากมาย ด้วยเพราะการดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน PPP ที่จะต้องร่วมลงทุนและแบกรับความเสี่ยง ทั้ง 2 ฝั่ง แต่ภาครัฐกลับปล่อยให้เอกชน ต้องอ้างว้างช่วยเหลือตัวเองเพียงลำพัง เสมือนโครงการเหล่านี้เป็นโครงการให้สัมปทาน หรือแม้แต่การอำนวยความสะดวกแหล่งเงินทุนให้มีดอกเบี้ยต่ำ ภาครัฐก็ยังปล่อยให้เอกชนทำไปเผอิญความเสี่ยงเพียงลำพัง ทั้งๆ ที่โครงการเหล่านี้ หากภาครัฐออกหน้าช่วยเหลือเอกชน เชื่อว่าจะทำให้โครงการเดินหน้าได้ราบรื่นขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการ หากภาครัฐยังนิ่งนอนใจกับอุปสรรคเหล่านี้ ก็อาจไม่มีโครงการขับเคลื่อนให้ EEC เดินหน้าได้ตามเป้าหมายประเทศ
ที่มาข้อมูล : -