เมื่อผู้เลี้ยงหมูไทย กลายเป็น "เดอะ แบก" ใครได้-เสีย จากเกมการค้า “ภาษีทรัมป์”

เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทย กว่า 144,881 คนทั่วประเทศ กำลังเผชิญวิกฤตครั้งใหม่ แม้เพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤตโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) และการลักลอบนำเข้าสุกรในช่วงปี 2564-2566 เมื่อข้อเสนอการนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในจากสหรัฐอเมริกา กลายเป็นหนึ่งในข้อต่อรองของทีมเจรจาไทย ที่เตรียมนำขึ้นโต๊ะต่อรองกับสหรัฐฯ เพื่อเพื่อปรับสมดุลการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการรับมือกับนโยบายภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ 

การเปิดประตูนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ ส่งผลให้เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู นำโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เคลื่อนไหวคัดค้าน พร้อมยื่นหนังสื่อเพื่อชี้แจงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ ซึ่งผู้เลี้ยงสุกรกว่า 90% เป็นเกษตรรายย่อย เลี้ยงสุกรต่ำกว่า 50 ตัว โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีใน 3 กระทรวง เพื่อคัดค้านรัฐบาลเปิดนำเข้าสุกรจากสหรัฐฯ มองว่าเป็นการทำลายระบบผู้เลี้ยงไทย


เมื่อผู้เลี้ยงหมูไทย กลายเป็น "เดอะ แบก"  ใครได้-เสีย จากเกมการค้า “ภาษีทรัมป์”

สรุปข่าว

การเปิดนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ กลายเป็นหนึ่งผลประโยชน์ทางการค้าที่ไทยเตรียมนำขึ้นโต๊ะเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบจาก ภาษีตอบโต้ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” แต่การยื่นข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นการแก้ปัญหาตรงจุดหรือไม่? เมื่อการส่งออกในภาพรวมของไทยคือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ ยานยนต์ ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมของบริษัทต่างชาติที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต แต่ผลกระทบกลับตกไปยังเกษตรกรรายย่อยอาจต้องสู้ศึก "สงครามราคา" จากยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเนื้อหมูระดับโลก

ทำไมการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ จึงสร้างความกังวลและความเสี่ยงให้เกษตรกรของไทย ประเด็นแรกก็ คือ เรื่องของสงครามราคาที่จะเกิดขึ้น เพราะราคาเนื้อหมูของสหรัฐฯมีต้นทุนที่ถูกกว่า ด้วยศักยภาพในการผลิตในฐานะประเทศผู้เลี้ยงสุกรเบอร์ 2 ของโลก ในขณะที่เนื้อสุกรไทยมีต้นทุนที่สูงกว่า ทั้งจากต้นทุนวัตถุดิบ และ การควบคุมาตรฐานความปลอดภัยที่ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง ที่สำคัญอุตสหากรรมกาลผลิตเนื้อหมูส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศ 

โดยในปี 2566 มูลค่าผลผลิตสุกรไทยประมาณ 155,391 ล้านบาท ซึ่ง 99% เป็นการบริโภคในประเทศ และมีเพียง 0.5% ส่งออก ซึ่งการเปิดประตูนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ อาจส่งผลดีในระยะสั้น ที่อาจมีเนื้อหมูราคาถูกเข้ามาในตลาด แต่ในระยะยาวอาจส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของไทย เพราะมีความเสี่ยงที่เกษตรกรรายย่อยของไทยจะเลิกเลี้ยงหมูหากเนื้อหมูนำเข้าหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก

ยิ่งไปกว่านั้น การเปิดตลาดอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ในประเทศ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปลายข้าว และกากถั่วเหลือง ที่เกษตรกรไทยปลูกไว้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์รวมกว่า 5.5 ล้านตัน/ปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 72,750 ล้านบาท หากอุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรถูกกระทบ จะทำให้เกษตรกรในกลุ่มต้นน้ำได้รับผลกระทบไปด้วย

เมื่อเห็นถึงปลายทางที่น่าเป็นห่วงต่อความมั่นคงทางอาหาร คำถามคือการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ตรงแผล และมีความคุ้มค่าหรือไม่? อาจต้องไปดูตัวเลขด้านการส่งออกที่สหรัฐฯภายใต้การนำของ “โดนัลด์ ทรัมป์” มองว่าไทยได้เปรียบ

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ชี้ว่าในปี 2567 ไทยส่งออกสินค้าทั้งหมดมูลค่ากว่า 10.5 ล้านล้านบาท โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นปลายทางสำคัญอันดับหนึ่ง คิดเป็น 18% ของการส่งออกทั้งหมด แต่เมื่อดูในรายละเอียดสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นสินค้าอุตสาหกรรม เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ ขณะที่สินค้าเกษตรมีการส่งออกเป็นมูลค่า 0.19 ล้านล้านบาท คิดเป็นเพียง 9%  ของการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เท่านั้น

ขณะที่สินค้า 10 อันดับแรกที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ประกอบด้วย 

 1. คอมพิวเตอร์ – 370,752 ล้านบาท

 2. โทรศัพท์ – 162,967 ล้านบาท

 3. ยางพาราแปรรูป – 123,816 ล้านบาท

 4. อุปกรณ์กึ่งตัวนำ – 88,032 ล้านบาท

 5. ทรานซิสเตอร์ – 73,490 ล้านบาท

 6. หม้อแปลงไฟฟ้า – 66,526 ล้านบาท

 7. รถยนต์และส่วนประกอบ – 62,297 ล้านบาท

 8. เครื่องใช้ไฟฟ้า – 48,791 ล้านบาท

 9. เครื่องประดับแท้ – 44,997 ล้านบาท

10. เครื่องปรับอากาศ – 39,562 ล้านบาท

ซึ่งสินค้า 10 อันดับแรก คิดเป็น 56% ของมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ


ทั้งนี้หากเปรียบเทียระหว่างดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่แสดงแนวโน้มที่ เติบโตต่ำกว่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ  โดยพบว่ามูลค่าการส่งออกโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังปี 2566 แต่ดัชนีการผลิตในประเทศไม่โตตามในระดับเดียวกัน 

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่าเศรษฐกิจส่งออกของไทยยังพึ่งพาสินค้านำเข้าหรือ “Rerouting” เป็นหลัก เช่น การนำเข้าสินค้าจากจีนเพื่อส่งต่อไปสหรัฐฯ 

นอกจากนี้เมื่อดูข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยังพบว่ารายได้อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ปี 2565 มูลค่ารวม 3,251 พันล้านบาท แบ่งเป็น

 • บริษัทขนาดใหญ่ 401 ราย : 2,455.0 พันล้านบาท (95%)

 • ขนาดกลาง 453 ราย : 98.2 พันล้านบาท (4%)

 • ขนาดเล็ก 5,288 ราย : 38.3 พันล้านบาท (1%)


ขณะที่รายได้จากอุตสาหกรรมผลิตอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ปี 2565

มูลค่ารวม 2,592 พันล้านบาท

 • ขนาดใหญ่ 448 ราย: 3,151.0 พันล้านบาท (97%)

 • ขนาดกลาง 340 ราย : 78.6 พันล้านบาท (2%)

 • ขนาดเล็ก 4,120 ราย: 21.8 พันล้านบาท (1%)


จะเห็นได้ว่ารายได้ในอุตสาหกรรมทั้ง 2 ประเภท กระจุกตัวอย่างมากกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติ ส่วนผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลางมีสัดส่วนรายได้รวมกันเพียง ไม่เกิน 5%


จากตัวเลขของภาคอุตสาหกรรมจะเห็นว่าภาคเกษตรไม่ใช่สินค้าส่งออกที่ทำให้สหรัฐฯ เสียดุลการค้าไทย  ซึ่งไทยกลายเป็นฐาน “รับจ้างผลิต” โดยรายได้กระจุกอยู่กับบริษัทรายใหญ่ที่มีทุนต่างชาติเป็นเจ้าของ ขณะที่การยื่นข้อเสนอกลับนำสินค้าที่ไม่ได้เน้นการส่งออก แต่เป็นกระดูกสันหลังที่หล่อเลี้ยงคนในประเทศ 

การเปิดประตูให้นำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ จึงอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรรายย่อยในไทย และเพิ่มแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมที่ยังคงเปราะบางหลังวิกฤตโรคระบาดในปีก่อน นักวิจัยเตือนว่า หากไม่ระวังในการเจรจาการค้า ไทยอาจต้องแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

การเจรจาการค้าที่มีการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ จึงอาจกลายเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่แลกมาด้วยความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

avatar

วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์