
ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ TNN ถึงแผ่นดินไหวในเมียนมา ที่สะเทือนมาถึงไทยและกรุงเทพฯ มองว่า
แผ่นดินไหวที่เกิดกับรอยเลื่อนสะกาย ไม่น่าส่งผลกระทบต่อรอยเลื่อนต่าง ๆ ในประเทศไทย ถือเป็นสิ่งที่คนไทยสบายใจได้

สรุปข่าว
“แผ่นดินบู้บี้ยู่ยี่จริง แต่แรงพวกนี้ไม่ได้ส่งผลต่อรอยเลื่อนบ้านเราเลย แรงที่เพิ่มขึ้น แสดงออกมาในกิริยาของอาฟเตอร์ช็อค ไม่อยากให้เป็นห่วงกับรอยเลื่อน แม่จัน ศรีสวัสดิ์ เจดีสามองค์ และอื่น ๆ” ศ.ดร.สันติ กล่าว
“อาคารไทยแข็งแรงกว่าพม่า ส่วนพม่าเสียมากหรือน้อย อาคารมีเท่าไหร่ก็หนักกว่าเราเยอะ”
และการเกิดแผ่นดินใหญ่ในรอยเลื่อนสะกายครั้งนี้ ถือว่ามาตามนัดแล้ว เพราะ “สะกายจะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ๆ 7 กว่า ทุก ๆ 50 ปี หรือ 100 ปี โดยประมาณ .. ตรงนี้เกิดแล้ว อีกพักใหญ่ถึงจะเกิดอีก แต่ตรงอื่น ก็มีแรงเค้นที่อาจเกิดขึ้นเช่นกัน
รอยเลื่อนในไทยมีที่ไหนบ้าง
ข้อมูลของ ศูนย์ปฎิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี แจ้งว่าประเทศไทย ยังมีรอยเลื่อนที่ยังมีพลัง 15 กลุ่มรอยเลื่อน ประกอบด้วย
- กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน พาดผ่าน จ.เชียงราย และ เชียงใหม่
- กลุ่มรอยเลื่อนแม่อิง พาดผ่าน จ.เชียงราย
- กลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน พาดผ่าน จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก
- กลุ่มรอยเลื่อนเมย พาดผ่าน จ.ตาก และ จ.กำแพงเพชร
- กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่านจ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.เชียงราย
- กลุ่มรอยเลื่อนเถิน พาดผ่าน จ.ลำปาง และ จ.แพร่
- 7.กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา พาดผ่าน จ.พะเยา จ.เชียงราย และ จ.ลำปาง
- กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว พาดผ่าน จ.เชียงราย
- กลุ่มรอยเลื่อนปัว พาดผ่าน จ.น่าน
- กลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์ พาดผ่าน จ.อุตรดิตถ์
- กลุ่มกลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี
- กลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.อุทัยธานี จ.ตาก
- กลุ่มรอยเลื่อน ระนอง พาดผ่าน จ. ระนอง จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.พังงา
- กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่าน จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต
- กลุ่มรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ พาดผ่าน จ.เพชรบูรณ์ และ จ.เลย
ด้าน ดร.ไบรอัน แบปไท นักแผ่นดินไหววิทยา สำนักสำรวจธรนีวิทยาบริติช ให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่า ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา มีแผ่นดินไหว 14 ครั้งที่มีขนาดเกิน 6.0 ที่เกิดขึ้นในรัศมีรอบจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวในครั้งนี้ในเมียนมา
“ครั้งรุนแรงสุดคือ 7.6 คล้ายกับที่เกิดขึ้นในวันนี้ แต่นั่นเกิดขึ้นเมื่อปี 1946 และอยู่เหนือภูมิภาคสะกายไปหน่อย” ดร.ไบรอัน กล่าว
“และเคยเกิดแผ่นดินไหว 6.8 ในปี 1956 ใกล้กับมัณฑะเลย์ ซึ่งสร้างความเสียหายรุนแรงมาก”
เชื่อว่า ความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ จะร้ายแรงมาก ยิ่งมีประชากรอยู่แออัด อาศัยอยู่ในอาคารที่สุ่มเสี่ยง ที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว เชื่อว่าผู้เสียชีวิตจะมีเป็นจำนวนมาก
ตอนนี้ รัฐบาลเมียนมาได้ประกาศภาวะฉุกเฉินแล้วในหลายพื้นที่ ท่ามกลางความวิตกว่า ความช่วยเหลือจะไม่ครอบคลุม เพราะนับแต่รัฐประหาร เมียนมาก็ถูกนานาประเทศโดดเดี่ยวมาตลอด
ณ เวลา 20.00 น. ตามเวลาในไทย ยืนยันผู้เสียชีวิตในเมียนมาแล้ว 20 คน แต่เชื่อว่ายอดผู้เสียชีวิตจะมีอีกมาก
ตลอดหลายชั่วโมง นับแต่แรงสั่นสะเทือนมาถึงประเทศไทย เกิดอาฟเตอร์ช็อคมาแล้ว 23 ครั้ง แม้จะดูน่าวิตก แต่ ศ.ดร.สันติ มองว่า ความรุนแรงของอาฟเตอร์ช็อคในตอนนี้ ถือว่าเป็นข่าวดีว่า สถานการณ์จะคลี่คลายภายในคืนนี้
“ข่าวดีต่อประเทศไทย จากการเกิดอาฟเตอร์ช็อคระดับนี้ ตอนนี้ กำลัง 3 แล้ว สถานการณ์ภัยพิบัติน่าจะจบลงในคืนนี้” ศ.ดร.สันติ ระบุ
แต่เขาก็เตือนว่า “ในฝั่งธรรมชาติ คนไทยนอนตาหลับได้ ในฝั่งสิ่งปลูกสร้างต้องดูกันว่า ประชาชนอยู่กันแบบไหน”
“ในมิติภัยพิบัติทางธรรมชาติ เหตุการณ์ครั้งนี้จบแล้ว และสำหรับประเทศไทยแล้ว เราตั้งรับได้ดีเลยพอสมควร”
แต่นี่ก็เป็นบทเรียนให้ต้องเตรียมความพร้อมในอนาคต เพราะแม้เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ นาน ๆ เขาจะเกิดที แต่จะมาตรงเวลา “เรามนุษย์เราจำได้หรือเปล่า สึนามิเราลืมหรือยัง การสูญเสียจะลดลงถ้าเราซ้อม”
ที่มาข้อมูล : TNN Online
ที่มารูปภาพ : Reuters

ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล