ทำไม ‘อาเซียน’ เป็นศูนย์กลางสแกมเมอร์โลก ความเสียหายทะลุหมื่นล้าน

ไอซ์ รักชนก ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน กล่าวระหว่างอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาลแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงประเด็นเรื่อง ปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ที่เกิดขึ้น โดยชี้ว่า ไทยเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับแก๊งอาชญากรรมเหล่านี้ ที่ก่อตั้งอยู่บริเวณประเทศเพื่อนบ้าน สร้างความเสียหายแก่ประชาชนคนไทยไม่เว้นแต่ละวัน 


ปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ ถือได้ว่า เป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้จบสิ้น ยังมีคนไทย และชาวต่างชาติอีกมากที่ถูกหลอกไปทำงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนทั่วโลกต่างขนานนามว่า “อาเซียน คือ ศูนย์กลางแห่งอุตสาหกรรมแก๊งสแกมเมอร์โลก”


สแกมเมอร์ระบาดหนัก หลังโควิด-19


นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 การกระทำผิดกฎหมาย อย่าง การหลอกลวง หรือ สแกมเมอร์ก็เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด บนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศกัมพูชา, ลาว เมียนมา และไทย


ปัญหาสแกมเมอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มธุรกิจการพนัน เมื่อการพนันกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายในจีนตั้งแต่ปี 1949 แก๊งอาชญกรก็เบนเข็มมาปักหลักธุรกิจพนันในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย หวังใช้เป็นศูนย์กลางดึงดูดเม็ดเงินจากนักพนันจีนที่หิวกระหายอยากเสี่ยงโชค


แต่เมื่อโควิดระบาด ทำให้เกิดข้อจำกัดของการเดินทาง เหล่าบรรดาธุรกิจพนันจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเดินหน้าธุรกิจการพนันออนไลน์ เพื่อสร้างเม็ดเงินให้กับตนเอง จนกระทั่ง สี จิ้นผิง ประธานาบดีจีน มีนโยบายปราบปรามการพนันทุกประเภท


สิ่งนี้ ยิ่งบีบให้อุตสาหกรรมนี้ หาหนทางปรับตัวใหม่อีกครั้ง และโดยพื้นฐานของแก๊งอาชญกรมักจะมองหาวิธีการหาเงินแบบง่าย ความเสี่ยงต่ำ บวกกับศูนย์กลางการพนันหลายแห่งถูกปราบปราม ธุรกิจสแกมเมอร์จึงเติบโตขึ้นมากลายเป็นทางเลือกหลัก ให้องค์กรเหล่านี้ แสวงหาผลประโยชน์จากเหยื่อ


ดูดเม็ดเงินเหยื่อนับหมื่นล้าน


รายงานอาชญากรรมข้ามชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดทำโดยสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ USIP ระบุว่า เครือข่ายอาชญากรรมสแกมเมอร์ก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงและสันติภาพทั่วโลก โดยชี้ว่า กลุ่มเครือข่ายเหล่านี้ ส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับกลุ่มจีนเทา


รายงานฉบับนี้ เปิดเผยด้วยว่า เฉพาะกลุ่มสแกมเมอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หารายได้จากการหลอกลวงประชาชนมากถึง 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากมูลค่าความเสียหายทั่วโลก 6.39 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ


ผู้เชี่ยวชาญ เชื่อว่า การที่ปัญหาสแกมเมอร์ยังคงอยู่ และคนยังถูกหลอกอยู่ทุกวัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยี AI, กฎเกณฑ์ทางการเงินที่อ่อนแอ, คริปโตเคอร์เรนซีน และธุรกิจสีเทาต่าง ๆ รวมถึงการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มอาชญากร และผู้มีอำนาจในพื้นที่ จึงทำให้สถานการณ์นี้ยากเกินจะควบคุม


วาดฝันวิมาน ก่อนหลอกมาทำคอลเซนเตอร์


ผู้เสียหายไม่ได้มีแต่เพียงเหยื่อที่โดนหลอกเอาเงินไปเท่านั้น แต่แก๊งอาชญากรยังล่อลวงคนบางส่วน เข้ามาทำงานเป็นคอลเซนเตอร์ บังคับให้หลอกเอาเงินจากเหยื่อด้วย โดยใช้วิธีการหลอกล่อ วาดฝันคนที่อยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการมาทำงานที่ต่างประเทศ


เหยื่อส่วนใหญ่ที่ถูกหลอกมามักเป็นชาวจีน และประชาชนจากพื้นที่อาเซียน ขณะเดียวกัน การหลอกคนมาทำงานที่นี่ก็ขยายไปถึงภูมิภาคแอฟริกา


ขณะเดียวกัน สถานการณ์ความไม่มั่นคงในเมียนมา ทำให้กลุ่มอาชญากรใช้เป็นฐานในการตั้งศูนย์หลอกลวงประชาชนทั่วโลก โดยบางศูนย์มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับรัฐบาลทหาร


USIP ชี้ว่า มีสแกมเมอร์ราว 305,000 คนทำงานอยู่ที่เมียนมา และคาดการณ์ว่า มีผู้คนมากกว่า 500,000 คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกลุ่มสแกมเมอร์


นอกจากนี้ ปัญหาสแกมเมอร์ในเมียนมายังส่งผลกระทบต่อความสัมพนธ์กับจีนเช่นกัน เนื่องจากเหยื่อส่วนใหญ่เป็นคนจีน และรัฐบาลทหารล้มเหลวในการจัดการ


แต่ต่อมาในเดือนตุลาคม 2023 กลุ่มชาติพันธุ์เข้าโจมตีรัฐบาลทหารเมียนในรัฐฉาน โดยอ้างว่า ต้องการปิดศูนย์สแกมเมอร์ตามบริเวณชายแดนจีน-เมียนมา ตั้งแต่นั้นมา หน่วยงานของจีนก็ได้กดดันกลุ่มชาติพันธุ์ให้ส่งตัวชาวจีนกลับ และปิดศูนย์สแกมเมอร์ต่าง ๆ โดยตอนนี้ มีประชาชนจีนกว่า 40,000 คน ถูกส่งกลับบ้านเกิดของตนเองแล้ว

ทำไม ‘อาเซียน’ เป็นศูนย์กลางสแกมเมอร์โลก ความเสียหายทะลุหมื่นล้าน

สรุปข่าว

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 การกระทำผิดกฎหมาย อย่าง การหลอกลวง หรือ สแกมเมอร์ก็เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด บนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศกัมพูชา, ลาว เมียนมา และไทย

รักชนกชี้ ไทยเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้แก๊งคอลเซนเตอร์


ระหว่างการอภิปรายอันดุเดือด สส.ไอซ์ รักชนก จากพรรคประชาชน ได้หยิบยกปัญหาเรื่องนี้ ขึ้นมาพูดในรัฐสภา ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และหยิบยกข้อมูลที่รวบรวมโดย TNN Online ถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแก๊งคอลเซนเตอร์ที่อาศัยอยู่ใน เมียนมา, ลาว และกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่าเสียหายรวมสูงถึง 1.533 ล้านล้านบาท 


“ตัวเลขนี้ คือตัวเลขที่ทำให้คนไทยจนลงจริง ๆ เพราะมันคือเงินที่ดูดไปจากกระเป๋า หรือ บัญชีธนาคารของพวกเขา”


“พรรคเพื่อไทยก็เคยอยากจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยอยากให้เป็นเทศไทยเป็นฮับท่องเที่ยว, ดิจิทัล, การบิน และขนส่ง แต่เราเป็นไม่ได้สักฮับ ฮับทุกวันนี้ ที่เราเป็นได้คือ ฮับของคนที่ทำทีเป็นนักท่องเที่ยว แต่จริง ๆ แล้วเข้ามาทำธุรกิจสีเทา” สส.รักชนก กล่าว 


สส.รักชนก กล่าวต่อไปว่า การดำรงอยู่ของแก๊งคอลเซนเตอร์ ต่างอาศัยทรัพยากรจากประเทศไทยมาเกื้อหนุน ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า, อินเทอร์เน็ต และทรัพยากรคน โดยอ้างข้อมูลจากสื่อรัฐบาลเมียนมา ที่รายงานว่า “ไทย” เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับแก๊งสแกมเมอร์


“ไฟฟ้าจากประเทศเรา หล่อเลี้ยงให้แก๊งคอลเซนเตอร์ทำงานได้สะดวก” สส.รักชนก กล่าว 

ปัญหาที่ไม่จบสิ้น


แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามปราบปรามแก๊งสแกมเมอร์ให้หมดไป แต่ก็ไม่สามารถจัดการได้แบบ 100% เพราะเมื่อปราบศูนย์แห่งหนึ่งได้ ก็มีศูนย์ใหม่ตั้งขึ้นอีกในภูมิภาคเดียวกัน แต่อาจจะอยู่ในประเทศที่บังคับใช้กฎหมายอ่อนกว่า


หน่วยงานส่วนใหญ่จะมุ่งจัดการโดยใช้การบังคับทางกฎหมายมากกว่าที่จะปรับกลยุทธ์ให้เท่าทันคนร้าย


ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า การต่อสู้กับกลุ่มสแกมเมอร์เป็นเรื่องยาก เพราะกลุ่มเหล่านี้ ดำเนินการในหลายประเทศ และแต่ละประเทศก็จะมีกฎหมายที่แตกต่างกันออกไป


นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่แก๊งเหล่านี้ใช้มักทันสมัยกว่าหน่วยงานรัฐบาล กลายเป็นว่า รัฐบาลต้องคอยเป็นฝ่ายตั้งรับเสมอ รวมถึงบางพื้นที่มีการได้ผลประโยชน์จากการจัดเก็บภาษีของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ด้วย


ทั้งนี้ การจะหยุดยั้งปัญหานี้ได้ หลายประเทศต้องร่วมมือกัน และการแก้ปัญหาต้องมีความยืดหยุ่น และมองหลายชั้น เนื่องจากแก๊งอาชญากรมักก้าวหน้าเร็วเสมอ


โดยตอนนี้ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC กำลังให้ความช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ในการทำงานร่วมกัน ซึ่งรวมถึงรัฐบาลจากจีน และกลุ่มประเทศที่อยู่ตามแถบริมแม่น้ำโขงต่างก็เริ่มแชร์ข้อมูล และดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกัน


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:


https://news.un.org/en/story/2024/07/1151906

https://www.voanews.com/.../report-southeast.../7655765.html

https://www.cfr.org/.../how-myanmar-became-global-center...

https://www.rusi.org/.../trafficking-forced-criminality...

https://www.voanews.com/.../in-southeast.../7888452.html

ที่มาข้อมูล : UN, VOA, CFR, RUSI

ที่มารูปภาพ : Wikipedia licensed under CC 4.0

avatar

พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์