ไวรัสร้ายแรง 300 ขวด หลุดจากแล็บออสซี อันตรายต่อมนุษย์หรือไม่ ?
สรุปข่าว
ข่าวดังกล่าว สร้างความตกใจให้กับหลายประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย โดยกังวลว่า ตัวอย่างไวรัสเหล่านี้ หายไปได้อย่างไร จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่หวังดี รวมถึงมันจะก่อให้เกิดโรคระบาดใหม่จนเป็นอันตรายแก่มนุษย์ และทำให้โลกเรากลับไปเหมือนตอนโควิด-19 ระบาดอีกครั้งหรือไม่
---ไวรัสอันตรายหลุดจากแล็บออสซี---
การหายไปของไวรัสอันตรายเหล่านี้ เจ้าหน้าที่มาทราบว่า หายไปตอนปี 2023 โดยที่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการหายไปได้ว่า ตัวอย่างเหล่านี้ ถูกขโมยไป หรือว่า ถูกทำลายไปแล้ว
“ตัวอย่างเหล่านี้ ถูกย้ายออกไปจากห้องจัดเก็บที่ปลอดภัยและสูญหาย หรือ ไม่มีการระบุสาเหตุ”
“ไวรัสถูกย้ายไปยังช่องแช่แข็ง โดยไม่มีการกรอกเอกสารที่สมบูรณ์” ทิม นิโคลส์ รัฐมมนตรีกระทรวงสาธารณสุขรัฐควีนส์แลนด์ กล่าว
นิโคลส์ กล่าวย้ำด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุขรัฐควีนส์แลนด์ได้ใช้มาตรการเชิงรุก รวมถึงการอบรมเจ้าหน้าที่ เกี่ยวกับข้อปฏิบัติที่จำเป็นอีกครั้ง และดำเนินการตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่า ตัวอย่างไวรัสต่าง ๆ เหล่านี้ ถูกจัดเก็บอย่างเหมาะสม
ด้านรัฐบาลออสเตรเลียได้เปิดทำการสอบสวน ชื่อว่า “การสอบสวนมาตรา 9” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แน่ใจว่า จะไม่มีสิ่งใดถูกมองข้ามจากสถานการณ์นี้ รวมถึงจะตรวจสอบนโยบาย และขั้นตอนปฏิบัติในปัจจุบันของห้องแล็บนี้ด้วย
---ไวรัสอะไรที่หายไป ?---
ตัวอย่างไวรัสที่หายไป เป็นไวรัสที่ส่งผลอันตรายจนถึงแก่ชีวิตมนุษย์ ได้แก่ ไวรัสเฮนดรา จำนวนเกือบ 100 ขวด, ไวรัสฮานตา จำนวน 2 ขวด และไวรัสลิสซา อีก 223 ขวด
ไวรัสเฮนดรา ค้นพบครั้งแรกช่วงกลางยุค 1990 มีค้างคาวเป็นพาหะนำเชื้อ และทำให้เกิดการติดเชื้อร้ายแรงในม้าและมนุษย์ โดยมีอัตราการเสียอยู่ที่ 57%
ขณะที่ ไวรัสฮานตา มีหนูเป็นพาหะนำเชื้อ และก่อให้เกิดโรคปอดจากไวรัสฮานตา (Hantavirus Pulmonary Syndrome) ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 38%
ส่วนไวรัสลิสซา เป็นไวรัสที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคพิษสุนัขบ้า ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตในมนุษย์สูงมาก
---ไทยก็มีแล็บเก็บไวรัสคล้ายออสซี---
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ออกมาแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย และเผยว่า ห้องแล็บที่เก็บตัวอย่างไวรัสลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ ก็มีอยู่ในประเทศไทยด้วย พร้อมกับเรียกร้องให้ยุติโครงการดังกล่าว
“ประเทศไทยยังมีการเก็บ การครอบครองอยู่ และร่วมมือกับต่างชาติในการสร้างไวรัสใหม่ ที่ร้ายแรงกว่าเดิม ในกลุ่มโคโรนา อีโบลา มาร์บวก นิปาห์ และตระกูลไข้เลือดออก และมีนักวิทยาศาสตร์ที่พัวพันกับการเกิดไวรัสโควิดอยู่ในสถาบันของประเทศไทย”
“ต้องยุติทันที และสอบสวนคนทำธุรกิจข้ามชาติ” ข้อความส่วนหนึ่งบน Facebook ของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์
อ่านข้อความเต็มได้ที่นี่:
เหตุการณ์ที่เกิดส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ทั้งต่างประเทศ และไทย เช่นเดียวกับ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค ที่แสดงความกังวลคล้ายกับ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ และตั้งคำถามถึงมาตรการความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่ออสเตรเลีย รวมถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เมื่อไวรัสหายไป
---ไวรัสหลุด อันตรายหรือไม่ ?---
แม้ไวรัสที่หลุดมาจะอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ว่า ตัวอย่างไวรัสที่หลุดออกมาจากห้องแล็บ จะสลายหายไปอย่างรวดเร็วเมื่อออกมาสัมผัสกับอุณหภูมิข้างนอก และจะไม่ก่อให้เกิดการแพร่เชื้อ หรือโรคระบาดใด ๆ และจนถึงตอนนี้ ยังไม่มีรายงานว่า พบคนติดเชื้อจากไวรัสเฮนดรา, ไวรัสฮานตา และไวรัสลิสซาตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
“เชื้อโรค 3 ตัวนี้ อาจทำให้มนุษย์มีโอกาสเสียชีวิตสูงได้ก็จริง แต่พวกมันไม่สามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้อย่างง่ายดาย” ดร.แซม สการ์ปิโน ผู้อำนวยการศูนย์ AI และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น ในบอสตัน กล่าว
“เนื่องจากพวกมันมีข้อจำกัดในการแพร่เชื้อจากคนสู่คน ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดจึงต่ำมาก” เขา กล่าว
ดร.จอห์น เจอร์ราร์ด หัวหน้าเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กล่าวว่า ไวรัสตัวอย่างเหล่านี้ ประสิทธิภาพจะลดลง เมื่ออยู่ด้านนอกของตู้แช่แข็ง และจะไม่สามารถแพร่เชื้อได้
อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีความเสี่ยงต่ำ แต่ ดร.สการ์ปิโน เผยว่า การรู้ว่าตัวอย่างไวรัสอยู่ที่ไหนเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อยืนยันว่า จะไม่มีความเสี่ยงที่จะสัมผัสอีกต่อไป
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
https://www.abc.net.au/news/2024-12-09/queensland-lab-breach-missing-vials-virus-health/104701198
ที่มาข้อมูล : หาเอง/ตัดต่อเอง
ที่มารูปภาพ : -