ศูนย์ศึกษาวัตถุใกล้โลกของ NASA (CNEOS) รายงานว่า ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 มีโอกาสพุ่งชนโลกเพิ่มขึ้นจาก 1.2% เป็น 2.3% หรือคิดเป็นโอกาส 1 ใน 43 เมื่อมันเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 2 ธันวาคม 2032
ดาวเคราะห์น้อยนี้ถูกค้นพบครั้งแรกในปลายเดือนธันวาคมปี 2024 ที่ผ่านมา โดยสถานีแจ้งเตือนการชนของดาวเคราะห์น้อยที่ได้รับทุนจากนาซาในประเทศชิลี และตั้งแต่นั้นมาก็กลายเป็นวัตถุที่มีความเสี่ยงสูงสุดในรายชื่อที่ถูกระบุวัตถุอันตรายที่ต้องจับตามองของนาซา และองค์การอวกาศยุโรป (ESA) เพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้นาซาได้ประเมินว่าโอกาสพุ่งชนโลกอยู่ที่ 1.2% เท่านั้น แต่การคำนวณใหม่ทำให้ระดับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
🔵 ข้อมูลดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4
นักดาราศาสตร์คาดว่าดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 มีเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 40 ถึง 90 เมตร ซึ่งเทียบเท่ากับขนาดของเทพีเสรีภาพ หากพุ่งชนโลกอาจสร้างความเสียหายร้ายแรงในระดับพื้นที่ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ทังกุสกาในไซบีเรียเมื่อปี 1908 ที่ทำลายป่าไม้กว้างถึง 2,150 ตารางกิโลเมตร
ด้วยระดับความเสี่ยงนี้ 2024 YR4 ได้รับคะแนน 3 จากมาตราตูริน (Torino Impact Hazard Scale) ซึ่งหมายความว่าเป็นการเผชิญหน้าที่นักดาราศาสตร์ต้องจับตามอง โดยมีโอกาสปะทะมากกว่า 1%
แม้ว่าโอกาสพุ่งชนโลกยังต่ำ แต่นับเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดจากดาวเคราะห์น้อยที่เราทราบในปัจจุบัน นักดาราศาสตร์หวังว่า เมื่อมีข้อมูลสังเกตเพิ่มเติม ความน่าจะเป็นของ 2024 YR4 จะลดลง เช่นเดียวกับกรณีของดาวเคราะห์น้อย Apophis ที่เคยได้รับคะแนน 4 บนมาตราตูริน (Torino scale) ซึ่งเป็นมาตราที่นักดาราศาสตร์ใช้จำแนกความอันตรายของวัตถุใกล้โลก แต่ภายหลังถูกลดระดับเป็น 0 หลังมีการสังเกตเพิ่มเติมและยืนยันว่าไม่เป็นภัยต่อโลก
ขณะนี้ 2024 YR4 อยู่ห่างจากโลกกว่า 43 ล้านกิโลเมตร และเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 46,800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ช่วงเวลาสำหรับการสังเกตลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากเมษายน 2025 ดาวเคราะห์น้อยจะจางหายจากการมองเห็นไปจนถึงปี 2028 ซึ่งอาจทำให้การวิเคราะห์เส้นทางโคจรมีข้อจำกัด
องค์การอวกาศยุโรป (ESA) กำลังประสานงานกับกล้องโทรทรรศน์ที่ทรงพลังจากประเทศต่าง ๆ รวมถึงกล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope ในประเทศชิลี เพื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 จะหายไปจากการมองเห็นชั่วคราว เมื่อนักดาราศาสตร์มีข้อมูลเพียงพอจะสามารถประเมินได้ว่าโลกจำเป็นต้องดำเนินการเบี่ยงเบนเส้นทางของดาวเคราะห์น้อยหรือไม่
🔵 แนวทางป้องกันดาวเคราะห์น้อย
หากมีความจำเป็นนาซาอาจใช้เทคนิคการเบี่ยงเบนเส้นทาง "วัตถุพุ่งชนจลนศาสตร์" (Kinetic Impactor) คล้ายกับภารกิจ DART ในปี 2022 ที่สามารถเปลี่ยนวิถีของดาวเคราะห์น้อยได้สำเร็จ รวมไปถึงคิดการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ก็อาจถูกใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและจับตาดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 รวมไปถึงโอกาสการพุ่งชนมีเพียง 2.3% จากการเปิดเผยของนาซาล่าสุด ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนกตกใจ เนื่องจากโอกาสพุ่งชนโลกน้อยมาก
สรุปข่าว
ที่มารูปภาพ : ที่มาของรูปภาพ NASA