ปริศนามหาพีระมิดแห่งกิซาพิกัดละติจูดตรงกับค่าความเร็วแสง ?

ปริศนามหาพีระมิดแห่งกิซายังคงถูกพูดถึงในด้านความลึกลับและปริศนาที่ยังรอคอยคำตอบ หนึ่งในปริศนาที่มีการพูดถึงบนโลกออนไลน์ คือ ความบังเอิญที่ตัวเลขพิกัดละติจูดของมหาพีระมิดแห่งกิซา 29.9792458°N ตรงกับค่าตัวเลขของความเร็วแสง 299,792,458 เมตรต่อวินาที ตัวเลขเหล่านี้คล้ายคลึงกันอย่างน่าประหลาดใจ ทำให้บางคนตั้งข้อสงสัยว่าชาวอียิปต์โบราณอาจมีความรู้เกี่ยวกับความเร็วแสงมาหลายพันปีก่อน หรือสิ่งเหล่านี้เป็นแค่เรื่องบังเอิญ

ปริศนามหาพีระมิดแห่งกิซาพิกัดละติจูดตรงกับค่าความเร็วแสง ?

สรุปข่าว

ปริศนามหาพีระมิดแห่งกิซาพิกัดละติจูดตรงกับค่าความเร็วแสง แค่เรื่องบังเอิญหรือภูมิปัญญาชาวอียิปต์ยุคโบราณ ?

🔵 พิกัดของมหาพีระมิดแห่งกิซาพิกัดเป็นแค่เรื่องบังเอิญ

หากต้องการพิสูจน์ข้อเท็จจริงสำคัญที่ต้องพิจารณา เช่น ชาวอียิปต์โบราณนั้นไม่ได้ใช้หน่วยวัดเป็นเมตร โดยหน่วยวัดเป็นเมตรถูกกำหนดมาตรฐานในปี 1791 ในขณะที่พีระมิดถูกสร้างขึ้นราว 2,550 ปีก่อนคริสตกาล นอกจากนี้ ระบบบอกพิกัดตำแหน่งแบบละติจูด-ลองจิจูด ถูกคิดค้นในยุคสมัยใหม่ ซึ่งหมายความว่าไม่มีทางที่อารยธรรมโบราณจะใช้ค่าพิกัดตำแหน่งแบบละติจูด-ลองจิจูดในการออกแบบโครงสร้างพีระมิด

หลักฐานเพิ่มเติมที่ช่วยยืนยันว่าพิกัดมหาพีระมิดแห่งกิซาตรงกับค่าความเร็วแสงเป็นแค่เรื่องบังเอิญ เช่น แนวคิดเกี่ยวกับความเร็วของแสงนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในยุคกรีกโบราณ แต่ด้วยเทคโนโลยีในยุคสมัยนั้นทำให้ยังไม่มีการทดลองที่สามารถพิสูจน์อย่างถูกต้อง

แนวคิดที่สำคัญในยุคกรีกโบราณ เช่น แนวคิดความเร็วแสงของอริสโตเติล (Aristotle) ในช่วงปี 384–322 ปีก่อนคริสต์ศักราช เชื่อว่าแสงเคลื่อนที่ความเป็นเร็วอนันต์ สามารถมองเห็นได้ในทันที เพราะเขาไม่สามารถสังเกตเห็นความล่าช้าของแสงได้

และในยุคกรีกโบราณช่วง 276-194 ปีก่อนคริสตกาลยังเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เอราทอสเทนีส (Eratosthenes) นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ชาวกรีก สร้างระบบเส้นละติจูดและเส้นลองจิจูดขึ้นเพื่อระบุตำแหน่งพิกัดต่าง ๆ

แม้กระทั่งยุคเรเนซองส์ ช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูวิทยาการณ์ ตรงกับสมัยของโยฮันเนส เคปเลอร์ (Johannes Kepler) ระหว่างปี 1571–1630 นักดาราศาสตร์ชื่อดังของโลก ยุคนั้นยังมีความเชื่อกันว่าแสงมีความเร็วอนันต์ ซึ่งหมายถึงไม่มีความล่าช้าในการเดินทางของแสง

เมื่อเข้าสู่ยุคที่วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้า นักดาราศาสตร์ชาวเดนมาร์กโอลาอุส โรเมอร์ (Ole Rømer) ปี 1676 เป็นคนแรกที่วัดความเร็วของแสงได้สำเร็จ โดยอาศัยการสังเกตดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี (Io) พบว่าความเร็วของแสง ประมาณ 214,000 กิโลเมตรต่อวินาที หรือ 214,000,000 เมตรต่อวินาที คลาดเคลื่อนจากค่าความเร็วแสงที่ถูกต้องไปเพียง 28.6% 

🔵 ค่าความเร็วแสงที่ถูกต้องถูกกำหนดขึ้นในปี 1983

สำหรับค่าความเร็วของแสงในสุญญากาศที่ถูกต้องและได้รับการยอมรับ คือ  299,792,458 เมตรต่อวินาทีนั้น ถูกกำหนดโดยองค์กรระหว่างประเทศที่มีหน้าที่กำหนดและดูแลระบบหน่วยวัดมาตรฐานสากล (CGPM) ประเทศฝรั่งเศส ในปี 1983 โดยใช้การวัดความเร็วแสงด้วยเครื่องมืออินเตอร์เฟอโรเมตรี (Interferometry) และแสงเลเซอร์  

ดังนั้น มหาพีระมิดแห่งกิซาที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณ 2,550 ปีก่อนคริสตกาล จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่วิศวกรในยุคนั้นจะรู้จักกับความเร็วแสง

นอกจากนี้นักประวัติศาสตร์ยับค้นพบว่าหน่วยวัดที่ชาวอียิปต์โบราณใช้จริง เช่น คิวบิต หรือประมาณ 0.525 เมตร ดังนั้นหากชาวอียิปต์โบราณรู้จักความเร็วแสงจริง ตัวเลขพิกัดจะต้องเป็นค่า 571,033,253 คิวบิตต่อวินาที ซึ่งไม่มีความสอดคล้องกับพิกัดละติจูดของมหาพีระมิดแห่งกิซาแต่อย่างใด