กองทัพเรือสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการทดสอบยิงโดรนด้วยเลเซอร์ HELIOS

กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ทดสอบระบบเลเซอร์พลังงานสูงฮีลิออส HELIOS หรือ High Energy Laser with Integrated Optical-dazzler and Surveillance บนเรือรบยิงโดรนบนท้องฟ้าได้สำเร็จในปีงบประมาณ 2024 ที่ผ่านมา 

การทดสอบมีขึ้นบนเรือพิฆาตยูเอสเอส พรีเบิล (USS Preble) ซึ่งเป็นเรือรบในชั้นอาร์ลี เบิร์ก (Arleigh Burke) โดยได้ทำการยิงระบบเลเซอร์พลังงานสูงฮีลิออส HELIOS เพื่อโจมตีโดรนทางอากาศระหว่างการฝึกซ้อมทดสอบอาวุธในปี 2024 รายงานถูกเปิดเผยโดยสำนักงานผู้อำนวยการฝ่ายทดสอบและประเมินผลการปฏิบัติการกองทัพเรือสหรัฐ

รายงานไม่ได้ระบุวันและเวลาที่แน่ชัดในการทดสอบยิงระบบเลเซอร์มีเพียงภาพถ่ายขาวดำ และคลิปวิดีโอที่แนบมาชี้ให้เห็นลำแสงสีขาวพุ่งออกจากเรือรบขึ้นสู่ท้องฟ้า รวมถึงข้อมูลเรือพิฆาตยูเอสเอส พรีเบิล (USS Preble) ที่ได้ได้ออกเดินทางจากฐานทัพเรือซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ในเดือนกันยายน 2024 และมาถึงฐานทัพเรือโยโกสุกะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2024

การทดสอบจัดทำโดยศูนย์ตอบโต้ของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา (CCM) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1972 เพื่อประเมินขีดความสามารถของกระทรวงกลาโหมในการรับมือกับภัยคุกคามทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ มีจุดประสงค์เพื่อตรวจสอบยืนยันประสิทธิภาพการทำงาน และขีดความสามารถของระบบเลเซอร์พลังงานสูงฮีลิออส HELIOS 

ก่อนหน้านี้มีการดำเนินการทดสอบมาแล้วทั้งหมด 32 ครั้ง นับตั้งแต่เริ่มโครงการระบบเลเซอร์ฮีลิออส (HELIOS) ในปี 2018 จนถึงปี 2024  ซึ่งรวมถึงการพัฒนาและประเมิน อาวุธพลังงานกำกับทิศทาง (Directed Energy Weapons)

ปัจจุบันสงครามทางเรือมีการใช้โดรนบินเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ทะเลแดงและอ่าวเอเดน ซึ่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ต้องสกัดกั้นโดรนและขีปนาวุธที่ยิงโดยกลุ่มกบฏฮูตี ที่คาดว่าได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านตามคำกล่าวอ้างของสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2023 ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเลเซอร์สำหรับป้องกันภัยทางอากาศ

ย้อนไปในปี 2024 พลเรือโท เบรนแดน แม็คเลน (Vice Admiral Brendan McLane) ได้ยอมรับว่า กองทัพเรือสหรัฐฯ ยังไม่มีระบบเลเซอร์ที่พร้อมใช้งานบนเรือรบ แต่ยืนยันว่าอาวุธพลังงานสูงจะช่วยให้เรือรบสามารถรับมือกับภัยคุกคามจากกลุ่มกบฏฮูตีได้ นอกจากนี้การติดตั้งเลเซอร์บนเรือรบไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันภัยทางอากาศ แต่ยังช่วยลดการใช้กระสุนจริงอีกด้วย ตามรายงานของสำนักข่าว Military Times สื่อด้านการทหารสหรัฐฯ

แม้ว่ากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ใช้งบประมาณกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 32,000 ล้านบาทต่อปี ในการพัฒนาเลเซอร์พลังงานสูงและไมโครเวฟกำลังสูงรูปแบบต่าง ๆ แต่กลับยังไม่มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมตามความต้องการของกองทัพเรือสหรัฐฯ เช่น การใช้งานจริงในสนามรบ

กองทัพเรือสหรัฐฯ ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการพัฒนาและนำอาวุธพลังงานกำกับมาใช้งานจริง ทั้งในด้านของเทคโนโลยี แหล่งพลังงานไฟฟ้าบนเรือ และสภาพแวดล้อม เช่น หมอกและลม ที่อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของระบบเลเซอร์พลังงานสูงฮีลิออส HELIOS

คาดว่ากองทัพเรือสหรัฐฯ มีเลเซอร์ ODIN (Optical Dazzling Interdictor) จำนวน 8 ระบบ ติดตั้งบนเรือพิฆาตชั้นอาร์ลี เบิร์ก (Arleigh Burke) ทำหน้าที่ทำลายเซ็นเซอร์ของศัตรูจากระยะไกล

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องต้นแบบระบบอาวุธเลเซอร์ขนาด 150 กิโลวัตต์ (LWSD) ติดตั้งอยู่บนเรือขนส่งสะเทินน้ำสะเทินบกชั้นซานอันโตนิโอ (San Antonio) ตามรายงานของ Congressional Research Service ที่เผยแพร่ในเดือนธันวาคม 2024 ซึ่งยังไม่เปิดเผยรายละเอียดผลการทดสอบและผลใช้งานทั้งหมด เนื่องจากเป็นความลับด้านการทหาร

กองทัพเรือสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการทดสอบยิงโดรนด้วยเลเซอร์ HELIOS

สรุปข่าว

แท็กบทความ