OpenAI เปิดตัว "Deep Research" ผู้ช่วย AI อัจฉริยะสำหรับงานวิจัยที่ซับซ้อน

หลังจากกระแสการเปิดตัวปัญญาประดิษฐ์ใหม่ o3 mini ไปไม่นาน OpenAI ได้ออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 โดยการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ Deep Research บนแพลตฟอร์ม


Deep reseah คือ AI Agent หรือผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะ ที่สามารถทำงานได้อย่างอิสระ สามารถค้นหา วิเคราะห์ และสังเคราะห์แหล่งข้อมูลออนไลน์จากหลายร้อยแห่ง เพื่อสร้างรายงานที่ครอบคลุมในระดับนักวิเคราะห์การวิจัย ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูล นั้น AI จะใช้เหตุผลในการค้นหาผ่านการ ตีความ และวิเคราะห์ข้อความ รูปภาพ และ ไฟล์ PDF จำนวนมากบนอินเทอร์เน็ต และปรับเปลี่ยนตามความจำเป็นเพื่อตอบสนองต่อข้อมูลที่พบ 


Deep Research จึงถือเป็นก้าวสำคัญไปสู่เป้าหมายในการพัฒนา AGI (Artificial General Intelligence) หรือ AI ที่มีความสามรถเทียบเท่ามนุษย์ ซึ่งอาจนำไปสู่การผลิตงานวิจัยใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์ 


สิ่งที่น่าสนใจคือจากคำอ้างของ OpenAI ระบุว่าฟีเจอร์ Deep Research นี้สามารถทำงานออกมาได้ภายในเวลาไม่กี่สิบนาที ซึ่งหากเป็นมนุษย์อาจต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวัน

สรุปข่าว

OpenAI เปิดตัว Deep Research ฟีเจอร์ใหม่ใน ChatGPT ที่ทำหน้าที่เป็น AI Agent ช่วยค้นหา วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งออนไลน์หลายร้อยแห่ง พัฒนามาจาก OpenAI o1 และใช้โมเดล OpenAI o3 ที่ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ข้อมูล สามารถทำงานวิจัยที่ซับซ้อนได้ภายในเวลาไม่กี่สิบนาที ซึ่งปกติอาจใช้เวลาหลายวันสำหรับมนุษย์ Deep Research ยังมีข้อจำกัดเรื่องความแม่นยำและความสามารถในการแยกแยะข้อมูล OpenAI กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีแผนจะเพิ่มความสามารถในอนาคต

ฟีเจอร์นี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้งาน AI เพื่อทำงานด้านต่าง ๆ ที่ต้องการข้อมูลเชิงลึกที่ถูกต้องและแม่นยำ เช่น ข้อมูลด้านการเงิน วิทยาศาสตร์ นโยบาย และวิศวกรรม นอกจากนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเลือกซื้อสินค้าที่ต้องมีการหาข้อมูลอย่างละเอียดได้อีกด้วย


สำหรับการใช้งาน Deep Research เมื่อผู้ใช้งานป้อนคำถามที่ต้องการค้นหาข้อมูลเชิงลึกผ่านรูปแบบการแชท ระบบจะวิเคราะห์และค้นหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วอินเทอร์เน็ต จากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้มาประมวลผลและสรุปผลลัพธ์ พร้อมทั้งอ้างอิงแหล่งที่มาเพื่อให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้


ปัจจุบัน Deep Research ทำงานบน OpenAI o3  ซึ่งเป็นโปรแกรม AI สำหรับการใช้เหตุผลตัวล่าสุด ที่พัฒนาเพิ่มเติมมาจาก OpenAI o1 หรือโปรแกรม AI สำหรับการใช้เหตุผลตัวแรกของ Open AI ที่อ้างว่าได้พัฒนา OpenAI o3 ให้เหมาะสมสำหรับการท่องเว็บไซต์และการวิเคราะห์ข้อมูลให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น


โดยจากการทดสอบ ของ ChatGPT โดยใช้ Humanity's Last Exam ซึ่งเป็นการประเมินจากการถามคำถามระดับผู้เชี่ยวชาญกับ AI มากกว่า 3,000 ข้อ จากหลากหลายสาขาวิชา ผลลัพธ์คะแนนความแม่นยำอยู่ที่ 26.6% เหนือกว่า Gemini Thinking ที่ได้คะแนนความแม่นยำ 6.2%, Grok-2 ที่ได้คะแนนความแม่นยำ 3.8% และ GPT-4o ของ OpenAI เอง ที่ได้คะแนนความแม่นยำ 3.3%


อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลจาก Open AI ฟีเจอร์ Deep Research ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น อาจมีการอนุมานข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือมีปัญหาในการแยกแยะข้อมูลที่น่าเชื่อถือออกจากข้อมูลข่าวลือ หรือเจอปัญหา AI หลอน (AI hallucination) ซึ่งหมายถึงสถานการณ์ที่ AI สร้างเนื้อหาที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นความจริง แต่ปัจจุบัน OpenAI กำลังพัฒนาโมเดลนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และมีแผนที่จะเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งข้อมูล และทำการรวมฟีเจอรฺ์นี้ให้สามารถทำงานร่วมกันกับเครื่องมืออื่น ๆ ได้ในอนาคต

ปัจจุบันทาง OpenAI เปิดให้บริการฟีเจอร์ Deep Research สำหรับผู้ใช้ ChatGPT Pro ในช่วงการเปิดตัว และมีแผนที่จะขยายการเข้าถึงไปยังผู้ใช้ Plus, Team และ Enterprise ในอนาคต ซึ่งจากข้อมูลจาก เว็บไซต์ OpenAI กล่าวว่าหากการตรวจสอบความปลอดภัยทั้งหมดแล้ว และผลลัพธ์ยังคงเป็นไปตามมาตรฐานการเผยแพร่ของ OpenAI คาดว่าจะเปิดตัวฟีเจอร์ Deep Research ให้กับผู้ใช้ Plus ในอีกประมาณหนึ่งเดือน รวมถึงอาจมีการเปิดตัวในแอปมือถือ และเดสก์ท็อปภายในเดือนนี้ 


ฟีเจอร์ Deep Research อาจถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของ OpenAI ในการพัฒนา AI ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ แม้ว่าก่อนหน้านี้ Google ได้มีการประกาศฟีเจอร์ AI ที่คล้ายกันโดยใช้ชื่อเดียวกันเมื่อเกือบสองเดือนก่อน ที่ชื่อว่า Google Deep Research แต่คุณสมบัติและฟังก์ชันการทำงานของ Deep Research ของ Google และ OpenAI อาจจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดบางประการ ขึ้นอยู่กับการใช้งานในแต่ละกรณี

แท็กบทความ

AI
AGI
OpenAI
DeepResearch
Google
Model openai o3