![เปรียบเทียบหมัดต่อหมัด DeepSeek vs OpenAI ในสงครามปัญญาประดิษฐ์ AI](/static/2025/fd18ebc6-262e-4f44-ac4b-d8a03b515b5a.webp)
ในยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI เติบโตอย่างรวดเร็วบริษัท DeepSeek สตาร์ตอัปด้านปัญญาประดิษฐ์ AI จากประเทศจีน และบริษัท OpenAI จากสหรัฐอเมริกา กำลังถูกพูดถึงและแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทั้งสององค์กรได้พัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ที่ล้ำสมัย แต่มีแนวทางการดำเนินงานที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่ของปรัชญาและต้นทุนการพัฒนา
การก่อตั้งและเป้าหมายองค์กร
บริษัท DeepSeek ก่อตั้งขึ้นในปี 2023 โดยเหลียงเหวินเฟิง (Liang Wenfeng) อดีตผู้ร่วมก่อตั้งกองทุนป้องกันความเสี่ยง High-Flyer ซึ่งเริ่มต้นจากการพัฒนาการซื้อขายตามอัลกอริทึม ก่อนจะขยายสู่การวิจัยปัญญาประดิษฐ์ AI โดย DeepSeek มีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนา AI แบบโอเพ่นซอร์ส (Open Source) หรือการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือเทคโนโลยีที่เปิดเผยซอร์สโค้ด (Source Code)
ในทางตรงกันข้าม บริษัท OpenAI ก่อตั้งขึ้นในปี 2015 โดยอีลอน มัสก์ (Elon Musk), แซม อัลท์แมน (Sam Altman), เกร็ก บร็อคแมน (Greg Brockman) รวมถึงผู้ก่อตั้งและนักลงทุนคนอื่น ๆ ในช่วงเริ่มต้นมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป (AGI) และสถานะเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร แต่ต่อมาได้เปลี่ยนไปเป็นรูปแบบองค์กรเป็นบริษัทเพื่อดึงดูดเงินทุนจำนวนมากที่จำเป็นสำหรับการวิจัยและพัฒนา ต่อมาอีลอน มัสก์ได้ลาออกจากบอร์ดบริหารของบริษัท OpenAI ในปี 2018
การพัฒนาโมเดลปัญญาประดิษฐ์ AI และต้นทุน
บริษัท DeepSeek พัฒนาโมเดลปัญญาประดิษฐ์ DeepSeek-R1 ซึ่งเป็นรุ่นเรือธง โดยใช้วิธีฝึกอบรมที่สร้างสรรค์ ทำให้ต้นทุนการพัฒนาต่ำเพียง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 203 ล้านบาท ขณะที่ยังคงรักษาประสิทธิภาพสูงสุดได้
ด้านบริษัท OpenAI การพัฒนาโมเดลปัญญาประดิษฐ์ OpenAI o1 ต้องใช้ทรัพยากรและต้นทุนที่สูงกว่ามาก โดยมีการประเมินว่าค่าใช้จ่ายอาจอยู่ในช่วงหลายร้อยล้านดอลลาร์ เนื่องจากความซับซ้อนของการฝึกอบรมและปริมาณข้อมูลที่ใช้ ซึ่งต้นทุนที่สูงกว่านี่เองทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามกับการพัฒนาโมเดลปัญญาประดิษฐ์ในอนาคตว่าควรอยู่ในรูปแบบใด
ประสิทธิภาพและเกณฑ์มาตรฐาน
โมเดลปัญญาประดิษฐ์ DeepSeek-R1 มีจุดเด่นในงานเฉพาะ เช่น การใช้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ โดยสามารถทำคะแนน 79.8% ในเกณฑ์มาตรฐาน American Invitational Mathematics Examination (AIME) 2024 ซึ่งสูงกว่าโมเดลปัญญาประดิษฐ์ OpenAI o1 ที่ทำได้ 79.2% เล็กน้อย
รวมไปถึง เกณฑ์มาตรฐาน MATH-500 พบกว่าโมเดลปัญญาประดิษฐ์ DeepSeek-R1 ทำได้ 97.3% ขณะที่โมเดลปัญญาประดิษฐ์ OpenAI o1 ทำได้ 96.4% แสดงให้เห็นว่า DeepSeek-R1 มีความแม่นยำและการให้เหตุผลที่ดีกว่าสำหรับปัญหาทางคณิตศาสตร์ขั้นสูงมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ในเกณฑ์มาตรฐานเปอร์เซ็นไทล์ (Codeforces) แพลตฟอร์มการเขียนโปรแกรมการแข่งขันที่ได้รับความนิยม และการจัดอันดับเปอร์เซ็นไทล์จะแสดงให้เห็นว่าโมเดลต่าง ๆ ทำงานได้ดีเพียงใดเมื่อเทียบกับโมเดลอื่น ๆ
พบว่าโมเดลปัญญาประดิษฐ์ OpenAI o1 ทำได้ดีกว่าที่ 96.6% ขณะที่ DeepSeek-R1 ทำได้ 96.3% ซึ่งหมายความว่า OpenAI o1 มีข้อได้เปรียบเล็กน้อยในการจัดการกับความท้าทายในด้านอัลกอริทึมและการเข้ารหัส
นอกจากนี้ โมเดลปัญญาประดิษฐ์ OpenAI o1 ยังมีความโดดเด่นด้านความยืดหยุ่นและความหลากหลายของการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการประมวลผลภาษา การแปล หรือการเขียนเชิงสร้างสรรค์ โดยยังคงเป็นผู้นำในเกณฑ์ Massive Multitask Language Understanding (MMLU) ซึ่งวัดความสามารถในหัวข้อที่หลากหลาย
แนวทางโอเพ่นซอร์สและกรรมสิทธิ์
หนึ่งในความแตกต่างที่สำคัญ คือ DeepSeek ยึดแนวทางโอเพ่นซอร์ส โดยเปิดให้เข้าถึงและพัฒนาโมเดลได้อย่างเสรี เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงเพื่อให้สามารถนำไป ศึกษา แก้ไข ปรับปรุง หรือพัฒนาเพิ่มเติมและส่งเสริมความร่วมมือในวงกว้าง แม้แต่ทีมงานของบริษัทปัญญาประดิษฐ์ในสหรัฐอเมริกา เช่น Meta ผู้พัฒนา Facebook หรือ Perplexity ต่างตั้งทีมงานเข้ามาศึกษาซอร์สโค้ดของโมเดลปัญญาประดิษฐ์ DeepSeek-R1
ในทางกลับกันโมเดลปัญญาประดิษฐ์ของ OpenAI แม้จะเริ่มต้นด้วยแนวคิดการวิจัยแบบเปิด แต่ในช่วงหลังได้ปรับไปใช้แนวทางที่เป็นกรรมสิทธิ์ โมเดลปัญญาประดิษฐ์อย่าง GPT-4 สามารถเข้าถึงได้ผ่าน API แบบเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งช่วยควบคุมการใช้งานและเพิ่มความปลอดภัย
แม้ทั้งบริษัท DeepSeek และ OpenAI ต่างนำเสนอแนวทางการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่แตกต่างกัน แต่เชื่อว่าทั้งสองบริษัทกำลังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI และกำหนดทิศทางอนาคตของอุตสาหกรรมนี้ในรูปแบบของตนเอง
![เปรียบเทียบหมัดต่อหมัด DeepSeek vs OpenAI ในสงครามปัญญาประดิษฐ์ AI](/static/2025/fd18ebc6-262e-4f44-ac4b-d8a03b515b5a.webp)
สรุปข่าว