นาซากำลังผลักดันขีดจำกัดการสำรวจดาวอังคารด้วยนวัตกรรมใหม่ล่าสุด เทคโนโลยียางรถยนต์สปริงมีคุณสมบัติคืนรูปร่างได้เองอัตโนมัติ โดยร่วมมือกับบริษัท Goodyear Tire & Rubber และศูนย์วิจัย Glenn Research Center ในเมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา พัฒนายางสปริงที่ใช้โลหะผสมแบบ Shape Memory Alloy หรือยางสปริง SMA เพื่อรับมือกับพื้นผิวขรุขระของดาวเคราะห์แดง
พื้นผิวดาวอังคารมีลักษณะเป็นหินและทราย ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเคลื่อนที่ของยานสำรวจ โดยเฉพาะยางรถแบบดั้งเดิมที่ไม่สามารถทนต่อแรงกดดันและแรงกระแทกได้ ยางสปริง SMA ที่พัฒนาใหม่นี้ ทำจากโลหะนิกเกิล-ไททาเนียม ซึ่งสามารถคืนรูปร่างเดิมได้ แม้จะต้องเผชิญกับการเสียรูปอย่างรุนแรง
ดร. ซานโต ปาดูลา (Dr. Santo Padula II) วิศวกรวัสดุศาสตร์จากศูนย์วิจัย Glenn Research Center กล่าวว่า “เทคโนโลยียางสปริง SMA เปิดโอกาสให้เรานำวัสดุไปใช้ในสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย เช่น บนดาวอังคารและดวงจันทร์ เพื่อเพิ่มความทนทานและความเสถียรของระบบสำรวจ”
ในช่วงเริ่มต้นโครงการทีมงานได้พัฒนาและทดสอบยางรูปแบบต่าง ๆ ภายในห้องปฏิบัติการ NASA Glenn Simulated Lunar Operations หรือ SLOPE ซึ่งสามารถจำลองพื้นผิวของดวงจันทร์และดาวอังคารเพื่อช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทดสอบประสิทธิภาพของยานสำรวจได้
และก่อนหน้านี้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2024 ทีมงานของนาซาได้เดินทางไปยังพื้นที่ทดสอบที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับการจำลองสภาพแวดล้อมบนดาวอังคาร หรือ Airbus Mars Yard ในเมืองสตีเวนิจ ประเทศอังกฤษ เพื่อทดสอบยางสปริง SMA บนภูมิประเทศจำลองของดาวอังคาร
การทดลองประกอบด้วยการขับเคลื่อนขึ้นลงเนิน ผ่านพื้นผิวหินและทราย โดยให้ความสำคัญกับการตรวจสอบความเสถียร ความคล่องตัว และการรับแรงกระแทก โคลิน ครีเกอร์ (Colin Creager) วิศวกรจากศูนย์วิจัย Glenn Research Center กล่าวว่า “ผลการทดสอบเกินความคาดหมาย ยางสามารถรักษาเสถียรภาพได้ดีแม้ในสภาวะที่เลวร้าย”
นาซาไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการปรับปรุงคุณสมบัติของยางสปริง SMA สำหรับยางรถยนต์ แต่ยังวางแผนขยายการใช้งานในด้านอื่น ๆ เช่น การป้องกันที่อยู่อาศัยบนดวงจันทร์จากไมโครอุกกาบาต โดยดร. ซานโต ปาดูลา กล่าวเสริมว่า “เราต้องการพัฒนาวัสดุที่สามารถดูดซับพลังงานได้สูง เพื่อสร้างโครงสร้างที่ปลอดภัยและทนทานสำหรับนักบินอวกาศบนดวงจันทร์และดาวอังคาร”
สำหรับเทคโนโลยียางสปริงที่ใช้โลหะผสมแบบ Shape Memory Alloy หรือ SMA เป็นเพียงก้าวแรกในการพัฒนานวัตกรรมที่พร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคตของการสำรวจอวกาศ อย่างไรก็ตาม นาซายังไม่เปิดเผยแผนการว่าจะนำยางสปริง SMA รุ่นใหม่นี้ไปใช้กับยานอวกาศในภารกิจใดเป็นภารกิจแรก
สรุปข่าว