เกาะเซนต์เฮเลนา เกาะที่อยู่ห่างไกลที่สุดในโลก ก้าวสู่พลังงานสะอาด

เซนต์เฮเลนา (St. Helena) หนึ่งในเกาะที่อยู่ห่างไกลที่สุดในโลก ตั้งเป้าที่จะเป็น “เกาะสีเขียว” โดยสมบูรณ์ ด้วยการผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน และสนับสนุนให้ชาวเมืองหันมาใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการปล่อยมลพิษแล้ว ยังลดต้นทุนการนำเข้าเชื้อเพลิงดีเซลอีกด้วย

เกาะเซนต์เฮเลนา เกาะที่อยู่ห่างไกลที่สุดในโลก ก้าวสู่พลังงานสะอาด

สรุปข่าว

“เกาะเซนต์เฮเลน่า” หนึ่งในเกาะที่อยู่ห่างไกลที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เริ่มคลี่คลายข้อจำกัดด้านการพึ่งพาพลังงานดีเซล ด้วยการนำเข้ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า สร้างสถานีชาร์จ และเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานสะอาดเพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมัน

เกาะเซนต์เฮเลนา เป็นเกาะภูเขาไฟที่อยู่ตรงกลางมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ มีประเทศที่ใกล้ที่สุดคือนามิเบีย (Namibia) บนแผ่นดินใหญ่ของแอฟริกา ซึ่งอยู่ห่างออกไป 1,874 กิโลเมตร โดยสำนักข่าว AP รายงานว่า จากการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุด โดยไม่ได้ระบุปีที่มีบันทึก มีประชากรเพียง 4,439 คนที่อาศัยอยู่ที่นี่


ปัจจุบันบนเกาะนี้ มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าบนเกาะเพียงแค่ 4 คันเท่านั้น ซึ่งต้องใช้การชาร์จพลังงานจากแหล่งจ่ายไฟฟ้าภายในบ้าน 


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องการผลักดันการใช้พลังงานบนเกาะ ให้ไปสู่การใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น จึงได้มีโครงการติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเครื่องแรก นอกจากนี้รัฐบาลยังมีแผนนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามือสองจำนวนมาก เพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าของประชาชน


และเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการด้านพลังงานสะอาดที่จะเพิ่มมากขึ้นรัฐบาลจึงได้มีการลงทุนด้านพลังงานทดแทน ด้วยการติดตั้งกังหันลมและแผงโซลาร์เซลล์ บริเวณหน้าผาใกล้ชายฝั่ง เพื่อช่วยในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงจะผลักดันการพัฒนาแหล่งกักเก็บพลังงานสำรองจำนวนมาก เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานของประชากรในพื้นที่มากขึ้น 


มีรายงานว่าเกาะเซนต์เฮเลนา (St. Helena) ต้องแบ่งงบประมาณร้อยละ 15 ของงบประมาณประจำปี ที่มีอยู่ราว 34 ล้านปอนด์ หรือราว 1,430 ล้านบาท ในการนำเข้าน้ำมันดีเซล เพื่อใช้ในด้านพลังงานและการขนส่ง 

แต่ในอนาคตรัฐบาลต้องการที่จะเพิ่มการพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยจะเพิ่มการผลิตพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์จากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 80 ในอีกสี่ปีข้างหน้า และทำให้ได้มากยิ่งขึ้นภายในสิ้นทศวรรษนี้

ที่มาข้อมูล : ทำข่าว

ที่มารูปภาพ : TIMBUKTU CONTENT, ASSOCIATED PRESS, REUTERS