เลเซอร์เผยรอยสักที่หายไปของวัฒนธรรมเปรูโบราณบนมัมมี่อายุ 1,200 ปี
ทีมนักวิจัยนานาชาติใช้เทคนิคแสงเลเซอร์แบบใหม่ ส่องใต้ผิวหนังของมัมมี่โบราณอายุประมาณ 1,200 ปี ที่มีรอยสัก เพื่อสร้างภาพที่มีความคมชัดสูงลดรอยแตกของรอยหมึก ทำให้นักวิจัยมองเห็นรายละเอียดรอยสักได้ชัดเจนขึ้น นำไปสู่การค้นพบข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาวเปรูโบราณ
สรุปข่าว
ปกติแล้วรอยสักบนผิวมัมมี่จะเสื่อมลงเมื่อเวลาผ่านไป ทำให้ยากต่อการศึกษาการออกแบบดั้งเดิมของลวดลาย นักวิจัยจึงใช้เทคนิคการใช้เลเซอร์แบบใหม่ เรียกว่า LSF - Laser Stimulated Fluorescence กระตุ้นการเรืองแสง ช่วยให้เห็นภาพรายละเอียดเล็ก ๆ ที่อาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
ด้วยวิธีการส่องแสงเลเซอร์แบบใหม่นี้ จะทำให้ผิวหนังที่มีรอยสักดูคล้ายกับเรืองแสง และทำให้หมึกสีดำมีความโดดเด่น ชัดเจนขึ้นมา นอกจากนี้ยังช่วยแก้ปัญหารอยสักลางเลือน เนื่องจากเลือดออก หรือจากผลกระทบของการซีดจางตามกาลเวลา และทำให้นักวิจัยมองเห็นการออกแบบดั้งเดิมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
โดยทีมวิจัยได้ตรวจสอบซากมัมมี่กว่า 100 ราย ในยุควัฒนธรรมชานเคย์ (Chancay) ซึ่งเป็นอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองในเปรู ระหว่างปี ค.ศ. 900 ถึงปี ค.ศ. 1533 ซึ่งจากมัมมี่ทั้งหมดนี้ มีเพียง 3 รายเท่านั้น ที่พบรอยสักที่มีรายละเอียดเล็กเป็นพิเศษ โดยพบเป็นเส้นบาง ๆ หนาเพียง 0.1-0.2 มิลลิเมตร
จากการศึกษายังพบว่าซากมัมมี่ จะมีรอยสักที่แสดงลวดลายเรขาคณิต โดยเฉพาะรูปสามเหลี่ยม ซึ่งเป็นรูปทรงที่พบได้ทั่วไปในงานศิลปะของวัฒนธรรมชานเคย์ในผลงานอื่น ๆ เช่น บนเครื่องปั้นดินเผา และสิ่งทอ
ซึ่งการค้นพบนี้ เผยให้เห็นถึงระดับของความซับซ้อนทางศิลปะโบราณ และรอยสักของมัมมี่ ยังแสดงให้เห็นถึงฝีมือการสักของชาวเปรูยุคเก่า ที่มีความละเอียด แม่นยำ เหนือกว่าคุณภาพที่พบในเครื่องปั้นดินเผา สิ่งทอ โดยข้อมูลเหล่านี้ทำให้นักวิจัยได้รับข้อมูลเชิงลึก เกี่ยวกับลำดับชั้นทางสังคม และระบุกลุ่มทางสังคมต่าง ๆ ภายในวัฒนธรรมชานเคย์ได้มากขึ้นอีกด้วย
ที่มาข้อมูล : ทำข่าว
ที่มารูปภาพ : AP Videohub, Interesting Engineering