

สรุปข่าว
จากผลงานล่าสุด ของฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย ที่จบลงไปด้วยชัยชนะของเกาหลีใต้ผู้มาเยือน เหนือทีมชาติไทยไป 0-3 เป็นการยัดเยียดความพ่ายแพ้ให้แก่การคุมทัพแมทช์แรกของ มาซาทาดะ อิชิอิ ในบ้านของไทย แม้เข้าบ้านจะแสดงความฮึดสู้อย่างสุดความสามารถก็ตามที
โดยในเกมการแข่งขัน จะเห็นได้ว่า ถึงแม้อากาศจะ “ร้อนตับแล่บ” สักเพียงไร แต่นักเตะเกาหลีใต้กลับยังคงมีการวิ่งสู้ฟัด
ตรงนี้ นำมาสู่คำถามที่ว่า ตกลงแล้ว เรายังสามารถที่จะ “อ้าง” เรื่องสภาพอากาศ แบบที่แฟนฟุตบอลไทยชอบอ้าง ๆ กัน ว่ามีผลต่อฟอร์มการเล่นของนักกีฬาได้หรือไม่?
ทั้งหมดเป็นสหสัมพันธ์
คำถามดังกล่าวนััน ในทางวิชาการ ก็สงสัยไม่แพ้กันกับเรา และได้มีการพยายามที่จะ “พิสูจน์สมมุติฐาน” มาพอสมควร
โดยหนึ่งในบทความที่น่าสนใจ นั่นคือ Keeping Your Cool: Possible Mechanisms for Enhanced Exercise Performance in the Heat with Internal Cooling Methods ที่ได้ให้ข้อเสนอว่า สภาพอากาศกับฟอร์มการเล่นของนักกีฬานั้น ส่งผลเป็น “สหสัมพันธ์” ต่อกัน
หากจะกล่าวให้ง่าย ๆ นั่นคือ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป “เป็นหนึ่งในเงื่อนไข” ที่ส่งผลต่อฟอร์มการเล่น ไม่ได้ “ส่งผลทั้งหมด”
ตัวอย่างเช่น หากสภาพอากาศร้อนขึ้น นักกีฬาจะรู้สึกว่า ต้องใช้แรงมากขึ้นในการแข่งขัน แต่ไม่ได้หมายความว่า ที่ใช้แรงมากขึ้นนั้น จะมาจากสภาพอากาศเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะมีเรื่องของการพักผ่อนน้อย การมีอาการบาดเจ็บติดตัว การไม่ได้โฟกัสกับเกมการแข่งขันมากเท่าที่ควร หรือแม้แต่เรื่องของ “ปาฏิหาริย์” ก็อาจที่จะส่งผลได้เช่นกัน
หรืออาจกล่าวสรุปได้ว่า เงื่อนไขด้านสภาพอากาศนั้น “เป็นหนึ่งในเงื่อนไขอื่น ๆ” ที่ส่งผลต่อฟอร์มการเล่นของนักกีฬา
และแน่นอน ไม่เพียงแต่เรื่องของอากาศร้อน หากแต่อากาศที่ “หนาวเย็น” จนเกินไป ก็เป็นสหสัมพันธ์ของฟอร์มการเล่นได้เช่นกัน และดูที่จะมี “น้ำหนัก” มากกว่าอากาศร้อนเสียด้วยซ้ำ
นั่นเพราะ อากาศที่หนาวนั้น มักมาพร้อมกับ “ทรรศนวิสัยที่ลดลง” โดยเฉพาะ การเกิดหิมะตก และอย่าลืมว่า กีฬาเป็นเรื่องของการตั้งสมาธิ จดจ่ออยู่กับเกมการแข่งขัน การมีสิ่งดังกล่าวมารบกวน ย่อมส่งผลอย่างมีน้ำหนักมากกว่าความร้อน หรือความรู้สึกร้อน ที่ไม่ได้ส่งผลต่ออะไรพวกนี้
อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ
เมื่อมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า การกล่าวอ้างถึงเรื่องสภาพอากาศ ย่อมสามารถที่จะกระทำได้ แต่ต้องเข้าใจว่า สิ่งนี้เป็นเงื่อนไขหนึ่ง ในอีกหลายเงื่อนไข ที่จะส่งผลต่อฟอร์มการเล่นของนักกีฬาเท่านั้น ฉะนั้น ก่อนที่จะออกตัวแรงเรื่องนี้ ให้ระลึกถึงตรงนี้ไว้ก่อนเสมอ
แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ส่งผลโดยตรงต่อฟอ์มการเล่นในสนาม นั่นคือเรื่องของ “ฝีมือ” ล้วน ๆ
ตัวอย่างเช่น หากให้ผู้เขียนไปแข่งวิ่ง 100 เมตรในประเทศอีเควโทเรียล กีนี ซึ่งอยู่ตรงเส้นศูนย์สูตรพอดิบพอดี รับรองได้เลยว่าร้อน ๆ ตับแล่บ โดยมีคู่แข่งเป็น “ยูเซน โบลท์” ลดกรดเจ้าของ 8 เหรียญทองโอลิมปิกชาวจาไมกา
ไม่ต้องคาดเดาย่อมรู้ได้ในทันทีว่า ผู้ใดจะได้รับชัยชนะ!
ตรงนี้ จะเห็นผลได้ชัด หากฝีมือห่างชั้นกันอย่างมาก แต่หากฝีมือพอ ๆ กัน ย่อมเป็นการยากที่จะประเมินได้
กระนั้น อย่าได้ลืมเป็นอันขาดว่า “ปาฏิหริย์นั้นมีจริง” เพราะในโลกของกีฬา เราได้เห็นมานักต่อนัก ตราบใดที่ยัง “มีความหวัง”
แหล่งอ้างอิง
- บทความ Keeping Your Cool: Possible Mechanisms for Enhanced Exercise Performance in the Heat with Internal Cooling Methods
- https://www.researchgate.net/publication/260819737_The_Effect_of_Weather_on_Sport
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8471173/
ที่มาข้อมูล : -