เปิดสถิติแจ้งเตือนข่าวปลอม-ข่าวบิดเบือนให้ประชาชนแล้วกว่า 10,000 เรื่อง

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า กระทรวงดีอี ได้ดำเนินการแก้ไขและป้องกันปัญหาข่าวปลอมที่มีผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะข่าวปลอมเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบอย่างรวดเร็วทันท่วงที ก่อนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

สแกน “เฟคนิวส์” 1.17 พันล้านข้อความ

จากข้อมูลสถิติของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti Fake News Center: AFNC)  ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 - มีนาคม 2568 พบว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ได้ทำการคัดกรองจำนวนข้อความทั้งหมด 1,172,694,555 ข้อความ โดยมีจำนวนข้อความที่เข้าเกณฑ์การตรวจสอบ 74,892 ข้อความ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 68)

เปิดสถิติแจ้งเตือนข่าวปลอม-ข่าวบิดเบือนให้ประชาชนแล้วกว่า 10,000 เรื่อง

สรุปข่าว

ดีอี เผยสถิติ สแกน “เฟคนิวส์” 1.17 พันล้านข้อความ พร้อมแจ้งเตือนข่าวบิดเบือน ประชาชนแล้วกว่า 10,000 เรื่อง

สำหรับข้อความที่เข้าเกณฑ์ตรวจสอบดังกล่าว ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ได้บูรณาการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของข่าวสาร ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน และสื่อมวลชน รวมเป็นเครือข่ายผู้ประสานงานกว่า 400 หน่วยงาน ซึ่งสามารถแบ่งประเภทข้อความได้ดังนี้

หมวดหมู่ข่าวสารที่ผลกระทบต่อประชาชน

1.เรื่องที่ส่งตรวจสอบ จำนวน 38,361 เรื่อง โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ข่าวสารที่ผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ดังนี้

- เรื่องนโยบายรัฐบาล 18,168 เรื่อง (47.36%)

- เรื่องสุขภาพ 14,082 เรื่อง (36.71%)

- เรื่องเศรษฐกิจ 2,115 เรื่อง (5.51%)

- เรื่องอาชญากรรมออนไลน์ 2,171 เรื่อง (5.66%)

- เรื่องภัยพิบัติ 1,825 เรื่อง (4.76%)

2.เรื่องที่ได้รับการตรวจสอบ มีจำนวนทั้งหมด 19,954 เรื่อง โดยแบ่งเป็น (1) ข่าวปลอม จำนวน 6,987 เรื่อง (35.01%) (2) ข่าวจริง จำนวน 7,955 เรื่อง (39.87%) (3) ข่าวบิดเบือน จำนวน 2,241 เรื่อง (11.23%) (4) ข้อมูลไม่เพียงพอ จำนวน 2,771 เรื่อง (13.89%)

3.เรื่องที่ได้ดำเนินการเผยแพร่ข่าวสารที่ตรวจสอบแล้วให้กับประชาชนได้รับทราบจำนวนทั้งหมด 10,293 เรื่อง แบ่งเป็น (1) ข่าวปลอม จำนวน 7,230 เรื่อง (70.25%) (2) ข่าวจริง จำนวน 2,266 เรื่อง (22.01%) (3) ข่าวบิดเบือน จำนวน 797 เรื่อง (7.74%)

เล็งนำ  AI เข้ามาช่วยในการตรวจสอบข่าวปลอม

กระทรวงดีอี โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ให้ความสำคัญในการสร้างความเข้าใจ และชี้แจงข้อเท็จจริงและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องอย่างทันท่วงทีแก่ประชาชน ผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อมูลอย่างรัดกุม ซึ่งในอนาคตจะมีการนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วยในการตรวจสอบข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน และข่าวจริง รวมทั้งการแจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงทางออนไลน์ หรืออาชญากรรมออนไลน์ ในรูปแบบต่างๆ ให้ทันต่อสถานการณ์อยู่เสมอ เพื่อลดความสูญเสียของประชาชนในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงประชาชน

ทั้งนี้ประชาชนสามารถติดตามและตรวจสอบข้อมูลข่าวสารของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

1) Website : www.antifakenewscenter.com 

2) Line Official Account : @antifakenewscenter 

3) Facebook : Anti-Fake News Center Thailand 

4) Twitter : @AFNCThailand 

5) TikTok: @AFNC_Thailand

6) Instagram: @AFNC_Thailand

นอกจากนี้ กระทรวงดีอี ยังได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ การแจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์และข่าวปลอมแก่ประชาชนผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือนประชาชนอย่าแชร์ข่าวปลอม! ภาพพื้นที่มีโอกาสเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหว

เดือนพฤษภาคม 2568 เตรียมรับมือน้ำท่วมครั้งใหญ่ ล่าสุดสทนช. ชี้แจงประเด็นนี้แล้ว

อย่าหลงเชื่อ! เช็ก 10 ข่าวปลอมในรอบสัปดาห์ พบเป็นข่าวความมั่นคง-โครงการรัฐบาล


avatar

ศิริพร บุญเถื่อน

แท็กบทความ