
รศ. ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหว ณ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตจตุจักร (เมื่อวานนี้ 6 เมษายน )
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า จากนี้ไปจะปรับวิธีการรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตที่แสดงอยู่บนบอร์ดหน้าอาคารถล่ม โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตจะเป็นข้อมูลที่ได้รับการยืนยันจากทางนิติเวชแล้วเท่านั้น เพื่อลดความสับสน และจะอัปเดตตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการทุกวัน วันละ 2 เวลา คือ 10.00 น. และ 16.00 น.

สรุปข่าว
เนื่องจากพอยิ่งนานวันไปร่างกายอาจมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ ทำให้กระบวนการตรวจนานขึ้น เราพยายามเร่งมือเต็มที่และพยายามอย่างยิ่งที่จะรวบรวมหลักฐานอื่น ๆ ด้วย เช่น สิ่งของ หลักฐานแวดล้อมบริเวณโดยรอบ
ในส่วนการช่วยเหลือเยียวยา ปัจจุบันสามารถจดแจ้งได้แล้ว หากประชาชนแจ้งในช่วงวันนี้และพรุ่งนี้ ประชาชนยังต้องแจ้ง 2 ที่ก่อน คือ สถานีตำรวจและสำนักงานเขต แต่ตั้งแต่วันอังคารที่ 8 เม.ย. 68 เป็นต้นไป ตำรวจจะไปอยู่ที่สำนักงานเขตด้วย เป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ขณะนี้กำลังมีการจัดระบบ คือมีการตัดยอดเป็นช่วง ๆ เพราะถ้ารอให้ประชาชนแจ้งครบทุกคน ในวันที่ 27 เม.ย.68 ข้อมูลจะเยอะมาก ปัจจุบันทุกเขตรวมกัน ณ ตอนนี้มีประชาชนมาแจ้งขอรับการเยียวยาไปแล้ว 40,000 กว่าเคส
โดยในวันนี้(7 เมษายน) จะมีการประชุมร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยว่าเราส่งเป็นก้อน ๆ ในส่วนการเยียวยาในลักษณะผู้เสียชีวิต การบาดเจ็บ ตอนนี้ทางกรมป้องกันฯ กำลังปรึกษากับกรมบัญชีกลาง ในการกำหนดรายละเอียดเพดานเงิน ว่าจะมีการปรับไปที่เท่าไร
นายสุริยชัย ผอ.สปภ. กล่าวว่า การดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่องจากเป้าหมายเมื่อวาน คือตรงโซน B จะดำเนินการยกทาวเวอร์เครนที่ล้มออก และทำการค้นหาผู้ติดค้างอีกครั้งหนึ่งโดยการขุดแล้วเอาปูนแยกออกมา ถ้าไม่พบร่างก็จะเอาถมลงไปกับพื้นเพื่อให้เครื่องจักรหนักคือแม็คโครแขนยาวเข้าไปอยู่ตรงจุดนั้น เพื่อช่วยในการปฏิบัติงานในโซน B และ C รวมทั้งตัวยอดกองซากอาคารที่มีตัวชิ้นปูนขนาดใหญ่ที่มีโอกาสสไลด์ลงมาก็ทำการยกออก เพื่อทำให้การปฏิบัติงานคล่องตัวมากขึ้น
สำหรับในโซน C มีการดำเนินการควบคู่กัน โดยตอนนี้ตัวอาคารตรงทางเดินเชื่อมที่ห้อยที่ติดค้างอยู่กับลานจอดรถซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อเจ้าหน้าที่ได้นำออกเรียบร้อยแล้วเพื่อจะเอาเครื่องจักรหนักเข้าไป ต่อไปจะทำการขุดเข้าไปในพื้นที่ที่คาดว่าจะเป็นโถงบันไดทั้งสองข้างทั้งและโซน B และ C ที่ผู้รอดชีวิตแจ้งว่าวิ่งหนีออกมากับเพื่อน ๆ เป็นจำนวนมากออกทางเชื่อมช่วงที่มีลานจอดรถ โดยบอกว่าหันกลับไปแล้วเห็นเพื่อนที่วิ่งตามมาถูกอาคารถล่มทับ คาดว่าจะมีความคืบหน้าเพิ่มเติมต่อไปในส่วนนี้ ด้านโซน A และโซน D ก็ดำเนินการควบคู่กันไปเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า
“เราใช้ความละเอียดในการตรวจสอบค้นหาผู้ติดค้าง เรามอนิเตอร์โดยคน โดยให้เจ้าหน้าที่พิจารณาร่วมกันในการตัดชิ้นส่วนอาคาร มีทีมโดรนใช้กล้องส่องซูมจากมุมสูงช่วยเป็นข้อมูลให้กับเครื่องจักรหนักเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ประสบภัย เมื่อได้ทำการแยกชิ้นปูนออกจากเหล็กแล้ว ก่อนจะมีการเคลื่อนย้ายปูนทุกเช้าจะมีทีม K-9 เข้าไปค้นหาในซากอาคารอีกครั้งหนึ่งเพื่อความละเอียดรอบคอบอีกครั้ง” นายสุริยชัย กล่าว
สำหรับแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของกู้ภัยด้านใน ขณะนี้มีการปรับให้ทีมเครื่องจักรหนักเป็นหน่วยงานหลัก ทีมอื่น ๆ ทั้งทีมค้นหาและกู้ภัย และทีมเคลื่อนย้ายเป็นทีมสนับสนุน สำหรับความก้าวหน้าในการรื้อถอนซาก จากการประเมินโดยคอมพิวเตอร์ เปรียบเทียบจากภาพถ่ายทีมโดรนตั้งแต่วันแรกกับปัจจุบัน คาดว่ารื้อย้ายออกไปแล้วประมาณ 3,500 ตัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- แผ่นดินไหวกรุงเทพฯ "กสร." เปิด 4 มาตรการช่วยนายจ้าง-ลูกจ้าง
- เปิดขั้นตอนรับเงินเยียวยาครบวงจรเหตุ "แผ่นดินไหว" ยื่นคำร้องภายใน 30 วัน
- แผ่นดินไหวกรุงเทพฯ พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม สุนัข K-9 ค้นหาผู้สูญหายใต้ซากโซน B

ธัญวรัตน์ น่วมภักดี