ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวถึงปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่กำลังสร้างผลกระทบในกรุงเทพมหานคร โดยเน้นย้ำถึง “ตัวแปรสำคัญ” อย่าง สภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยากต่อการควบคุม
โดมกักฝุ่น: ปรากฏการณ์จากสภาพอากาศ
ในช่วงฤดูหนาว ลักษณะการแบ่งชั้นของอากาศทำให้เกิดปรากฏการณ์ "โดมกักฝุ่น" ได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในเมืองไม่สามารถกระจายออกไปนอกพื้นที่ และยิ่งทวีความรุนแรงเมื่อมีฝุ่นจากภายนอก เช่น ฝุ่นจากการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ลอยเข้ามาเติม การพยากรณ์ล่วงหน้าทำได้เพียง 3 - 4 วันเท่านั้น และไม่สามารถแก้ไขสภาพอากาศที่แปรปรวนได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ การลดปริมาณฝุ่นจากต้นตอ โดยเริ่มต้นจากการจัดการฝุ่น PM2.5 ในเมือง
สรุปข่าว
ต้นตอของฝุ่น PM2.5 แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือฝุ่นในเมือง ฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากยานพาหนะ โดยเฉพาะ "รถควันดำ" ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ และ ฝุ่นจากภายนอกเมือง ฝุ่นจากการเผาที่ลอยเข้ามาในพื้นที่ และถูกกักไว้ในโดม
“รถควันดำคือปัญหาสำคัญที่สุด” เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นแล้ว ยังสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนที่ปฏิบัติตามกฎหมาย การจัดการกับรถควันดำแม้จะมีมานาน แต่กลับยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในบางพื้นที่จำนวนรถควันดำอาจเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ จากอุปสรรคติดขัดในการบังคับใช้กฎหมาย และความจำเป็นในการกำหนดมาตรฐานใหม่ที่เข้มงวดและชัดเจน นอกจากนี้ยังมีปัจจัย ฝุ่นละอองจากนอกเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเผา ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เพิ่มระดับฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ พุ่งสูงจนกลายเป็นอากาศสีแดง ถึงระดับสีม่วง
ผศ.ดร. ธรณ์ ระบุอีกว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น เราต่างทราบถึงแหล่งกำเนิดและผลกระทบของฝุ่นเหล่านี้มาอย่างยาวนาน การประชุมและการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นมีมานับสิบปี นโยบายต่าง ๆ ก็มีหลากหลายแนวทาง สิ่งที่เราต้องการคือความเฉียบขาดและความต่อเนื่อง หากเราตั้งใจทำจริง ทำต่อเนื่อง ทำตลอด ทำก่อนฝุ่นมา รวมทั้งกฎหมายอากาศสะอาดที่เฝ้ารอมาหลายปี น่าจะออกมาในปีนี้ เราอาจมีความหวัง
ที่มาข้อมูล : ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
ที่มารูปภาพ : TNN