ศ.นพ. กิตติณัฐ กิจวิกัย ศัลยแพทย์ระบบ ทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลรามาธิบดี และกรรมการบริหารสมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยผศ.นพ. ปองวุฒิ ด่านชัยวิจิตร อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศิริราช เข้าร่วมและพญ. ปานียา สูตะบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ร่วมเสวนาหัวข้อ"รอบรู้เรื่องมะเร็งต่อมลูกหมาก"
โดยแพทย์ห่วงชายไทยเทคฮอร์โมน หวังเสริมหล่อ ทำยอดป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่ม เผย สถิติโรคสูงเป็นอันดับ 4 ของมะเร็งในผู้ชายไทย แนะสังเกตสัญญาณเสี่ยงปัสสาวะผิดปกติ-มีเลือดปน ปวดบั้นเอว อุ้งเชิงกราน ต้นขารุนแรง ชี้ ครอบครัวที่มีประวัติอย่านิ่งนอนใจอายุ 40 ปีขึ้นไป ให้ตรวจคัดกรอง ถ้าทั่วไป ชายไทย 50 ปีขึ้นไปให้ใส่ใจ ระบุปัจจุบันยาและการรักษามีประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงน้อย
ซึ่งปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก คือ อายุที่มากขึ้น พันธุกรรม หากมีญาติสายตรง เช่น พ่อ ปู่ พี่ชาย หรือน้องชายที่มีพ่อแม่เดียวกันเป็นโรคนี้ ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ เชื้อชาติ โดยชาวยุโรปและสหรัฐฯ มีอุบัติการณ์มากกว่าคนเอเชีย อีกทั้งภาวะโรคอ้วน พฤติกรรมการใช้ชีวิต และฮอร์โมนเพศชายสูงผิดปกติ เช่น มีการใช้ฮอร์โมนเสริมเพื่อการกีฬา หรือการออกกำลังกาย ซึ่งไม่จำเป็นเพราะทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้โดยปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยจากกลุ่มนี้มีอัตราเพิ่มมากขึ้น
สรุปข่าว
ปัจจุบันสถานการณ์ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2565 ชี้ให้เห็นว่ามะเร็งต่อมลูกหมากในไทยพบมากเป็นอันดับ 4 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดในเพศชาย รองจาก มะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 3,829 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 7,830 ราย ในขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้เสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมาก 397,430 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่ 1,467,854 ราย พบมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดในเพศชาย รองจากมะเร็งปอด
ด้าน ศ.นพ.กิตติณัฐ แนะนำให้ผู้ชายสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณเตือนมะเร็งต่อมลูกหมาก ประกอบด้วย 1. การปัสสาวะที่ผิดปกติ ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะลำบาก 2. อาการปวดรุนแรง บริเวณบั้นเอว อุ้งเชิงกราน ต้นขาอยู่ตลอดเวลา 3. อาการอื่นที่เกิดขึ้นได้ในระยะแพร่กระจาย ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดตามร่างกาย ชา หรืออ่อนแรง กระดูกเสื่อม น้ำหนักลด เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการ ขอให้พบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด