กทม. จมฝุ่น “กลุ่มเปราะบาง” น่าห่วง กระตุ้นสารพัดโรค แนะ 4 วิธีรอดจากมลพิษ

จากการคาดการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่อาจเพิ่มขึ้นถึงระดับ "สีส้ม" ในกว่า 35 เขต เนื่องจากอัตราการระบายอากาศที่ไม่ดีและการพบจุดเผาเกินวันละ 80 จุดในช่วงวันที่ 11-15 มกราคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาตรการขอความร่วมมือให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้วิธี Work From Home (WFH) ในวันที่ 20-21 มกราคม เพื่อลดการใช้รถยนต์ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษสำคัญ
สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว

สรุปข่าว
ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจาก PM2.5 เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่ลดลงและข้อจำกัดด้านสุขภาพ ซึ่งมีโอกาสเจ็บป่วยทั้งระยะเฉียบพลันและระยะเรื้อรังได้ง่ายกว่า สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคและอาการต่าง ๆ ได้แก่ อาการระคายเคืองตา, โรคทางเดินหายใจ, ผิวหนังอักเสบหรือเสื่อมสภาพเร็ว โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ และ ภาวะสมองเสื่อม เนื่องจากผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในการเคลื่อนที่และดูแลตนเอง จึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้ดูแลเพื่อป้องกันผลกระทบจากฝุ่นละออง
ข้อแนะนำสำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุ และ กลุ่มเปราะบาง
1. ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และแจ้งเตือนผู้สูงอายุถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพ
2. สังเกตอาการผิดปกติ ที่อาจเกี่ยวข้องกับ PM2.5 เช่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หรือวิงเวียนศีรษะ
3. จัดการสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน ให้ปลอดฝุ่น โดย:
- ปิดประตู หน้าต่าง หรือช่องต่าง ๆ ให้มิดชิด
- ทำความสะอาดบ้านทุกวันด้วยผ้าชุบน้ำ แทนการใช้ไม้กวาด
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น เช่น การจุดธูป การเผาสิ่งของ
- ใช้เครื่องกรองอากาศอย่างเหมาะสม โดยวางในตำแหน่งที่ไม่ใกล้เครื่องปรับอากาศหรือห้องน้ำ
4. ลดการออกนอกบ้าน หากค่าฝุ่น PM2.5 สูงเกินเกณฑ์ปกติ หรือหากจำเป็น ให้ผู้สูงอายุสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น
นอกจากการป้องกันฝุ่นละอองในสิ่งแวดล้อมแล้ว ควรเตรียมยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เช่น ยาประจำตัวและยาสามัญประจำบ้าน พร้อมทั้งเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติ หากผู้สูงอายุมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หรือหมดสติ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
ที่มาข้อมูล : หาเอง/ตัดต่อเอง
ที่มารูปภาพ : -