‘พีระพันธุ์’ เปิดมุมมองวิธีตีความข้อกฏหมายปมเงินกู้พรรคการเมือง

‘พีระพันธุ์’ เปิดมุมมองวิธีตีความข้อกฏหมายปมเงินกู้พรรคการเมือง

สรุปข่าว

วันนี้ (14ธ.ค.62) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตส.ส.ระบบบัญชี่รายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตผู้พิพากษา ได้โพสต์ข้อความผ่านฟชบุค ส่วนตัว พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ระบุว่า “ห้ามเดินลัดสนาม!!  โดยประเด็น การกู้เงินของพรรคการเมืองนั้น วัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ ต้องการป้องกันมิให้ “นายทุน” หรือบุคคลใดมามีอำนาจหรือมีอิทธิพลเหนือพรรคการเมืองโดยการ “ให้ทุน” ดังนั้น การ “ให้ทุน” แก่พรรคการเมืองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่อาจจะทำให้ “ผู้ให้ทุน” มีอำนาจหรือมีอิทธิพลเหนือพรรคการเมืองจึงกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นไปตามที่ พรป. พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ในมาตรา 66 ว่าต้องเป็น “เงินบริจาค” หรือ “ประโยชน์อื่นใด” ที่มีจำนวนเงินหรือมีมูลค่าไม่เกินสิบล้านบาทต่อปีต่อรายเท่านั้น

ดังนั้นแม้พรรคการเมืองจะมีสถานะเป็นนิติบุคคลก็ตาม แต่ก็ต่างจากการเป็นนิติบุคคลของบริษัทจำกัดทั่วไป เพราะพรรคการเมืองมิใช่องค์กรธุรกิจและมิได้มีเจตนารมณ์ที่จะแสวงหากำไรจากการดำเนินการของพรรคการเมือง และพรรคการเมืองไม่มีผู้ถือหุ้นที่มาร่วมกันลงทุนเพื่อแสวงหาผลกำไรจากการดำเนินการของพรรคการเมือง จึงไม่มีเหตุผลและไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่พรรคการเมืองจะต้องกู้ยืมเงินจำนวนมากๆ มาใช้ในกิจกรรมหรือในการดำเนินงานของพรรคการเมืองเช่นเดียวกับนิติบุคคลที่เป็นบริษัทจำกัด

นายพีระพันธุ์ ระบุด้วยว่า หากพรรคการเมืองต้องการหา “ทุน” เพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแล้ว พรป. พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 66 ก็กำหนดให้กระทำได้โดยการ “รับบริจาค” หรือโดยการ “ระดมทุน” ที่ไม่เกินสิบล้านบาทต่อปีต่อราย ซึ่ง “ทุน” ที่ได้มาจากการบริจาคหรือจากการระดมทุนนี้จะเป็นสิทธิ์ขาดของพรรคการเมืองที่จะนำไปใช้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้โดยอิสระ มิใช่เพื่อนำไปลงทุนทางธุรกิจเหมือนนิติบุคคลที่เป็นบริษัทจำกัด และ “ทุน” ที่ได้รับมานั้นก็มิใช่ “หนี้” ที่พรรคการเมืองจะต้องหา “เงิน” มาใช้หนี้คืน

ดังนั้น แม้ไม่มีบทบัญญัติใดของ พรป. พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เขียนเรื่องการกู้เงินของพรรคการเมืองไว้ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของ พรป. พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 แล้ว การ “ให้เงิน” แก่พรรคการเมืองไม่ว่าในรูปแบบของ “การให้กู้เงิน” หรือในรูปแบบอื่นใด ก็จะต้องถือว่าเป็นการให้ “เงินบริจาค” หรือ “ประโยชน์อื่นใด” แล้วแต่ข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆ ไป และหากมีจำนวนเงินหรือมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อปีต่อรายแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็น “เงินบริจาค” หรือเป็น “ประโยชน์อื่นใด” ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 66 แห่ง พรป. พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งหากพรรคการเมืองรับเงินหรือประโยชน์เช่นว่านั้น ไม่ว่าจะเรียกว่า “เงินกู้” หรือเรียกว่าอะไรก็ตาม ก็ต้องถือว่าพรรคการเมืองนั้นรับ “เงินบริจาค” หรือ “ประโยชน์อื่นใด” แล้วแต่กรณี โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นความผิดตามมาตรา 72 แห่ง พรป. พรรคการเมือง พ.ศ. 2560

อย่างไรก็แล้วแต่ การตีความกฎหมายก็เป็นเรื่องสองคนยลตามช่อง ทุกคนก็เชื่อในความคิดของตนเอง สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ชี้ขาด

เกาะติดข่าวที่นี่ 

website: www.TNNThailand.com  
facebook : TNNThailand 
twitter : @TNNThailand 
Line : @TNNThailand 
Youtube Official : TNNThailand



ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

พีระพันธุ์
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
พรรคประชาธิปัตย์
ประชาธิปัตย์
เงินกู้พรรคการเมือง
เงินกู้
พรรคการเมือง
อนาคตใหม่
พรรคอนาคตใหม่