"เลขากฤษฏีกา" ชี้ช่อง ของบรัฐบาล เยียวยาผลกระทบที่ดิน "อัลไพน์"
เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงแนวคำวินิจฉัยการเพิกถอนที่ดินอัลไพน์ของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า แนวคำวินิจฉัยมีตั้งแต่ปี 2544 และหลักของคำวินิจฉัยคือที่ดินที่ได้มาโดยมรดกต้องทำเป็นไปตามที่เจ้าของมรดกกำหนดเมื่อต้องการให้ตกแก่วัดก็ต้องตกแก่วัด ซึ่งการเพิกถอนที่ดินให้เป็นที่ธรณีสงฆ์เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ขอให้ไปถามจากกระทรวงมหาดไทยว่าจะหาทางแก้ไขเยียวยาให้กับประชาชนที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไร ซึ่งต้องไปว่ากันอีกรอบหนึ่ง ขณะเดียวกัน ต้องตรวจสอบว่ามีการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอะไรหรือไม่ เพราะว่าจริงๆ แล้ว เราต้องเสียเงินชดเชยให้กับผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้ได้มาโดยสุจริต ต้องไปดูว่าคำสั่งทางปกครองออกมาและถูกยกเลิกไปนั้นชอบหรือไม่ และประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบ
สรุปข่าว
เมื่อถามถึงงบประมาณที่จะนำมาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ นายปกรณ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าจะนำมาจากส่วนใด แต่หากจำเป็นจะต้องแก้ไขเยียวยาก็สามารถของบประมาณจากรัฐบาลได้ เมื่อถามย้ำว่า ใช้งบปกติไม่จำเป็นต้องของบกลางจากรัฐบาลใช่หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า งบปกติน่าจะไม่มี เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้ตั้งงบไว้ เพราะไม่มีใครคิดว่าจะเกิด ตนเข้าใจว่าอย่างนั้น จึงต้องหารือกับสำนักงบประมาณว่ามีแหล่งเงินจากที่ใดบ้าง อย่างไรก็ตาม แม้วงเงินในการเยียวยาจะสูง แต่ตนคิดว่ามีหลายวิธีที่จะแก้ไข ซึ่งต้องรอ รมว.มหาดไทย และอธิบดีกรมที่ดิน มาแนะนำว่าจะหาทางแก้อย่างไร
นายปกรณ์ ส่วนประเด็นปัญหาด้านกฎหมายมีเพียงว่า ถ้าคำสั่งทางปกครองไม่ชอบก็เพิกถอนเสีย และหากเพิกถอนคำสั่งทางปกครองไปแล้ว และมีผลกระทบต่อบุคคลที่สุจริตก็ต้องเยียวยากันในทางกฎหมายมีเพียงแค่นั้น ส่วนในทางบริหารก็ไปว่ากัน
เมื่อถามว่า ความเห็นของกฤษฎีกา เมื่อปี 2545 ที่เสนอให้ออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนเป็นที่ดินเอกชนสามารถทำได้หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า การโอนที่ดินซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ต้องตามเป็นตามกฏหมายอยู่แล้ว ไม่ได้มีอะไร ซึ่งก็แล้วแต่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยว่าจะพิจารณาว่าทางใดเหมาะสมหรือสมควร ควรรอถาม รมว.มหาดไทยจะเหมาะสมกว่า เมื่อถามว่า การออกพ.ร.บ.ที่ดินจะยากกว่าการจ่ายเงินชดเชยหรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า ไม่ได้ยากอะไร พ.ร.บ.โอนที่ธรณีสงฆ์ ทำกันบ่อย ๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่เป็นข่าว