เมื่อทรัมป์กลับมา อาจเป็นในดีฅ่อเศรษฐกิจในประเทศ แต่อาจเป็นฝันร้ายต่อ ‘สภาพอากาศโลก’ .. ทรัมป์จะเป็นภัยอย่างไรต่อสภาพภูมิอากาศ-พลังงานสะอาดบ้าง ?
“เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ของผมในการปกป้องอเมริกา และประชาชน สหรัฐฯ จะถอนตัวจากข้อตกลงปารีส” - โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2017
ปี 2024 กำลังจะถูกขนานนามว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ และอาจจะร้อนขึ้นไปอีก เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมหวนกลับคืนสู่ห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาวอีกครั้ง ในต้นปี 2025
นี้แล้ว ท่ามกลางการจับตาว่า ทรัมป์ จะนำพาสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส ที่จะจำกัดอุณหภูมิไม่ให้สูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส จากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือไม่? - และที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น คือ ทรัมป์ จะหยุดแค่การถอนตัวจากข้อตกลงปารีสหรือไม่?
ทรัมป์ 2.0 ถอนตัวข้อตกลงปารีสครั้งที่ 2?
ชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ เหนือ คามาลา แฮร์ริส คือตัวเลือกของชาวอเมริกันส่วนใหญ่ ที่มองว่าทรัมป์ น่าจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า -.. เนื่องจาก…นั่นคือมุมมองในด้านเศรษฐกิจ
แต่ชัยชนะของ “ทรัมป์” กลับเป็น “ข่าวร้าย” ต่อสภาพภูมิอากาศโลก เนื่องจากขับเคลื่อนด้วยนโยบายที่ยังไม่ชัดเจนในหลาย ๆ เรื่อง
เชื่อว่าทันทีที่ทรัมป์เข้าสู่ทำเนียบขาวในเดือนมกราคม เขาจะยื่นเอกสารไปที่สหประชาชาติ เพื่อถอนตัวออกจาก “ข้อตกลงปารีส” อีกครั้ง .. ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะเขาเคยบอกไว้ว่า เขารับใช้ชาวพิตส์เบิร์ก ไม่ใชปารีส - และทรัมป์ ก็จะเพิกเฉยต่อคำมั่นของสหรัฐฯ ที่ตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 50-52% ภายในปี 2030
เพราะการถอนตัว นั่นหมายถึงเงินทุนที่สหรัฐฯ ในฐานะประเทศร่ำรวย จะต้องจ่ายเข้ากองทุน Loss & Damage หรือ “กองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย” ที่จะช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ - ตลอดจนกองทุนอื่น ๆ ของสหประชาชาติ ก็อาจถูกตัดลดลงไปด้วยเช่นกัน
จนถึงเวลานี้ สหรัฐฯ จ่ายเงินเข้ากองทุนนี้แล้วราว 17.5 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 600 ล้านบาท และมี 23 ประเทศแล้ว ที่ใส่เงินเข้ากองทุน รวมราว 700 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 24,000 ล้านบาท
ขณะที่รายงานจากสหประชาชาติ เผยว่า อาจจำเป็นต้องใช้เงินในกองทุนมากถึง 3-6 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี ภายในปี 2030 นี้ - ซึ่งนับว่า ยังอยู่ห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่มาก
จอห์น โพเดสตา ทูตสหรัฐฯด้านสภาพอากาศ กล่าวในเวที COP29 ที่ผ่านมาว่า เป็นที่ชัดเจนว่า คณะทำงานชุดใหม่ จะพยายามกลับลำ และยกเลิกสิ่งต่าง ๆ ที่ทำมา
“นี่ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการต่อสู้ของเราเพื่อโลกที่สะอาดและปลอดภัยขึ้น ความจริง อย่างไรก็คือความจริง วิทยาศาสตร์ ก็ยังคงเป็นวิทยาศาสตร์ การต่อสู้จะยิ่งใหญ่กว่าแค่การเลือกตั้ง และวงจรการเมืองในหนึ่งประเทศ การต่อสู้ จะยิ่งใหญ่ เพราะพวกเราต่างอยู่บนโลกใบนี้ ที่กำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ” - โพเดสตา กล่าว
หยุดการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด - เดินหน้าหนุนอุตสาหกรรมใช้พลังงานฟอสซิล
การกลับมาของทรัมป์ ยังจะกระทบอย่างหนักต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์, ลม และอื่น ๆ ที่รัฐบาลชุดนี้พยายามดำเนินการ
ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ ประกาศคำมั่นต่ออเมริกันชนว่า จะเร่งลดราคาเชื้อเพลิงพลังงานลง และแน่นอนว่า การจะไปถึงจุดนั้น ก็จะต้องเพิ่มการขุดเจาะ เพื่อธุรกิจก๊าซ และน้ำมัน ตามแผนการ Drill, Baby Drill ที่ทรัมป์ประกาศเอาไว้
“ คุณเชื่อในสิ่งต่าง ๆ อย่างเช่น เราจะไม่ขุดเจาะ เราจะไม่เอาเชื้อเพลิงฟอสซิลขึ้นมา เราจะไม่ทำในสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ประเทศแข็งแรง ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ เยอรมนีเคยพยายามทำแบบนั้นแล้ว และในเวลาแค่ปีเดียว พวกเขาก็กลับมาสร้างโรงไฟฟ้าแบบเดิม พวกเรายังไม่ได้พร้อม (สำหรับพลังงานสะอาด) เราไม่สามารถเสียสละประเทศ ให้กับวิสัยทัศน์แย่ ๆ แบบนั้นได้” - โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวระหว่างการดีเบต 2024
ทรัมป์อาจยกเลิกกฎหมาย IRA - กระทบสิ่งแวดล้อม
ปี 2023 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ออกกฎหมาย Inflation Reduction Act (IRA) ที่มีงบประมาณถึง 4.3 แสนล้านเหรียญ เป้าหมายหลักคือ การลดเงินเฟ้อ - เพื่อหวังสร้างแรงจูงใจดึงผู้ผลิตกลับประเทศ - แต่เป้าหมายอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กันคือ จะเป็นการลงทุนด้านพลังงานสะอาดครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าถึง 3.7 แสนล้านเหรียญ ที่มีเป้าหมายเพื่อสู้กับภาวะโลกรวน ด้วยการทำให้เกิดการลงทุนมากขึ้น สำหรับภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับพลังงานและคาร์บอน
กฎหมาย IRA นี้ ไม่ได้เน้นออกบทลงโทษผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ในประเทศ แต่จะเน้นไปที่การสร้างแรงจูงใจทางการเงิน เพื่อให้ผู้ประกอบการสหรัฐฯ ละ-ละ-เลิก การใช้พลังงานฟอสซิล - ด้วยการที่รัฐจะให้เครดิตภาษีกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่หันมาใช้พลังงานทดแทน และพลังงานนิวเคลียร์ แทน
รวมถึง ในกฎหมายนี้รัฐจะให้เครดิตภาษีสูง 7,500 เหรียญ กับชาวอเมริกันที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าด้วย เพื่อหวังผลักดันตลาดรถยนต์ไฟฟ้า เพราะทั่วโลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซในอุตสาหกรรมขนส่ง ซึ่งถูกจัดว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด
แต่นโยบายเหล่านี้ กลับไม่ใช่สิ่งที่ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการ
กลับลำนโยบายรถยนต์ไฟฟ้า
ทรัมป์เคยบอกว่า ตนนี่เองที่เป็นผู้บุกเบิกเครื่องยนต์สันดาป และเขาจะยกเลิกกฎเกณ์การปล่อยไอเสียตั้งแต่ “วันแรก” ที่รับตำแหน่ง เพราะทรัมป์อ้างว่า การเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อมนี้ คือการผลักภาระไปให้ผู้บริโภคชัด ๆ
ทรัมป์เคยหาเสียงว่า จะยกเลิก หรือ ปรับเปลี่ยนมาตรฐานการปล่อยมลพิษของยานยนต์หลายฉบับ รวมถึงกฎหมาย IRA นี้ด้วย
จริงอยู่ที่ทรัมป์คงไม่อาจยกเลิกกฎหมาย IRA ได้ทั้งหมด แต่ที่เขาอาจทำได้ และคงทำทันที คือ การยกเลิกให้เงินสนับสนุน หรือจำกัดการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการใช้คำสั่งฝ่ายบริหารใด ๆ ที่เขาถนัด
เพราะทรัมป์เชื่อว่า จะช่วยพยุงอุตสาหกรรมที่กำลังถดถอยลงได้
ตั้ง “เซลดิน” นั่ง ปกป้องสิ่งแวดล้อม
ไม่เพียงเท่านี้ ทรัมป์ยังเตรียมแต่งตั้ง Lee Zeldin ผู้ภักดีกับทรัมป์ ให้รับผิดชอบหน่วยงานปกป้องสิ่งแวดล้อม ..ที่ดูจะกลายเป็นเรื่องสยองขวัญสำหรับนักสิ่งแวดล้อมเลยทีเดียว เพราะนั่นคือสัญญาณว่า อากาศสะอาด, น้ำสะอาด และการปกป้องสิ่งแวดล้อม อาจถูกทำลาย และยกเลิกภายใต้รัฐบาลชุดใหม่
เซลดินคนนี้ ประกาศชัดเจนเมื่อวันจันทร์ หลังทรัมป์ประกาศชื่อ ว่า ภารกิจหลักของเขาคือ การยกเลิกกฎเกณฑต่าง ๆ - เขาให้สัมภาษณ์กับ Fox news ว่า เขาจะเข้าข้าง “อุตสาหกรรม” เหนือ “การปกป้องสุขภาพของประชาชน” - เพราะเขาบอกว่า ฝ่ายซ้าย ได้ออกกฎต่าง ๆ มากมายที่กระทบต่อภาคธุรกิจ และนั่นคือการเดินผิดทาง แต่ทรัมป์ จะยกเลิกข้อบังคับเหล่านั้น เช่น การแบน Fracking ของรัฐนิวยอร์ก ที่เซลดินเคยประกาศว่า จะยกเลิกการแบน และจะผลักดันการติดตั้งท่อก๊าซเพิ่มเติมด้วย เพราะนั่นคือการสร้างงาน และสร้างรายได้ให้ประชาชน
ที่น่าจับตาหลังจากนี้คือ ผลกระทบต่อโลกและไทย กับ การที่สหรัฐฯเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงานสะอาดไปโดยสิ้นเชิง
ขณะที่อีกด้าน จีน ซึ่งนับว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งการสร้างแผงโซลาร์ และเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดเบอร์ใหญ่ของโลก (ที่แม้จะยังเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซมากที่สุดในโลกอยู่ก็ตาม) อาจทำให้จีนเข้ามามีอำนาจในการเจรจาและอำนาจต่อรองมากขึ้น และเสียงของจีนบนเวทีสภาพภูมิอากาศก็อาจดังมากขึ้นด้วย
—————
ภาพ: Reuters
อ้างอิง: