เหตุใด"ซากเรือไททานิค"จึงอันตราย? ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์อาจโยงเรือดำน้ำไททัน
ตำนานเรือที่ไม่มีวันจม "ไททานิค" ล่าสุดผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ถึงอันตรายที่อยู่รอบๆซากเรือ ที่อาจเชื่อมโยงกับการหายไปของยานดำน้ำไททัน
ตำนานเรือที่ไม่มีวันจม "ไททานิค" ล่าสุดผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ถึงอันตรายที่อยู่รอบๆซากเรือ ที่อาจเชื่อมโยงกับการหายไปของยานดำน้ำไททัน
การค้นหา "เรือดำน้ำไททัน" ซึ่งมีผู้โดยสาร 5 คนสูญหายไปขณะที่กำลังดำดิ่งลงไปดูซาก "เรือไททานิค" ในมหาสมุทรแอตแลนติก ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง และเต็มไปด้วยความกดดัน ท้าทาย เพราะยิ่งเวลาผ่านไปหลายวัน ปริมาณออกซิเจนในเรือก็เหลือน้อยลงไปทุกที
ประวัติเรือไททานิค
เรือไททานิค หรือ อาร์เอ็มเอส ไททานิก หรือชื่อเต็มคือ เรือไปรษณีย์หลวงไททานิก (Royal Mail Ship Titanic) เป็นเรือโดยสารซึ่งจมลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 หลังชนภูเขาน้ำแข็งระหว่างการเดินทางเที่ยวแรกจากเซาท์แทมป์ตัน สหราชอาณาจักร ไปนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา การจมของไททานิค นับเป็นภัยพิบัติทางทะเลในยามสงบครั้งที่มีผู้เสียชีวิตมากครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
ไททานิค เคยเป็นสิ่งของเคลื่อนได้ที่ใหญ่ที่สุดที่ทำด้วยฝีมือมนุษย์ในขณะการเดินทางเที่ยวแรก เป็นหนึ่งในสามเรือโดยสารชั้นโอลิมปิกซึ่งดำเนินการโดยไวต์สตาร์ไลน์ สร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1909-1911 โดยอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนดวูล์ฟฟ์ในเบลฟาสต์บรรทุกผู้โดยสาร 2,223 คน
ลักษณะเฉพาะของเรือไททานิค
ไททานิกเป็นเรือที่เปิดศักราชใหม่ให้กับอุตสาหกรรมเรือเดินสมุทร เนื่องจากเป็นเรือลำแรก ๆ ของโลกที่สร้างโดยโลหะและรองรับผู้โดยสารได้ถึง 2,435 คน ยาว 269.0622 เมตร กว้าง 28.194 เมตร ขนาดของเรือ 46,328 ตัน แบ่งเป็น 9 ชั้น เรียงจากชั้นบนลงชั้นล่างได้ดังนี้
9. ดาดฟ้า สงวนไว้ให้ผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นสอง มีปล่องไฟ 4 ตัว สูงตัวละ 19 เมตร และห้องยิมเนเซียม[6]
8. ชั้น A ห้องนั่งเล่น ห้องสมุด[6] ห้องสูบบุหรี่ คาเฟ่ขนาดเล็ก และเนิร์สเซอรี่ของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง
7. ชั้น B ห้องอาหาร a la carte ร้านกาแฟแบบปารีสของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง [7] และห้องสูบบุหรี่ผู้โดยสารชั้นสอง
6. ชั้น C ห้องสมุดของผู้โดยสารชั้นสอง ห้องเอนกประสงค์ของผู้โดยสารชั้นสาม
5. ชั้น D ห้องอาหารของผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นสอง
4. ชั้น E ห้องนอนของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง สอง สาม ลูกเรือ
3. ชั้น F ห้องอาหารของผู้โดยสารชั้นสาม
2. ชั้น G สระว่ายน้ำ ห้องอาบน้ำแบบตุรกี[6] และห้องเก็บกระเป๋าเดินทาง
1. ชั้นห้องเครื่อง มี 16 ห้อง หม้อน้ำรวม 29 ชุด ส่งเชื้อเพลิงให้เครื่องยนต์ 3 ตัว เครื่องยนต์ 3 ตัว หมุนใบจักร 3 ใบ รวม 50000 แรงม้า เร่งความเร็วเรือได้สูงสุด 23 น็อต (42.596 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ความเร็วมาตรฐาน 21 น็อต (38.892 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ห้องเครื่องทั้ง 16 ห้องมีกำแพงสูงถึงชั้น F และมีประตูกลซึ่งจะปิดลงมาทุกบานทั่วลำเรือเมื่อพบเหตุผิดปกติที่ห้องเครื่องใดห้องเครื่องหนึ่ง ซึ่งถ้าหากไม่เกิดรอยรั่วในหลายห้องเครื่องจนเกินไป ตามหลักการลอยตัวแล้ว เรือจะไม่จม ถึงแม้จะเป็นจุดอ่อนที่สุดของเรือซึ่งก็คือหัวเรือ ก็ยังรับรอยแตกได้ถึง 4 ห้องเครื่องติดกันโดยไม่จม
อันตรายบริเวณรอบซากเรือไททานิค
ในปี 1912 เรือสำราญไททานิค ได้ล่องข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก โดยเริ่มต้นจาก เซาแธมป์ตัน สหราชอาณาจักร ในวันที่ 10 เมษายน และเวลาเพียง 5 วัน ของความสุขของผู้คนบนเรือ ก็วูบหายลง เมื่อเรือชนเข้ากับก้อนน้ำแข็ง ในวันที่ 15 เมษายน จนหักเป็นสองท่อน และจมลง มีผู้เสียชีวิต 1,517 ราย จากผู้โดยสารและลูกเรือราว 2,200 คน
ปัจจุบันเรือไททานิคจมอยู่ใต้ทะเลที่ความลึกเกือบ 3.8 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากชายฝั่งเกาะนิวฟันด์แลนด์ ของแคนาดาราว 400 กิโลเมตร ซึ่งแม้ว่าจะรู้ตำแหน่งของมันค่อนข้างแน่นอนแล้ว แต่การที่จะนำยานดำน้ำลงไปสำรวจซากเรือไททานิคนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย และเต็มไปด้วยอันตรายมากมาย
โดยบรรดานักวิเคราะห์ได้ระบุถึงอันตรายรอบๆ ซากเรือไททานิคที่อาจเกี่ยวข้องกับการหายไปของยานดำน้ำไททันไว้ดังนี้
1. จุดที่ซากเรือจมอยู่นั้นค่อนข้างลึก โดยปกติแล้ว แสงจะไม่สามารถส่องผ่านลงไปใต้ทะเลได้เกิน 1 กิโลเมตร และจุดที่ซากเรือไททานิคจมอยู่นั้นลึกเกือบ 4 กิโลเมตร แน่นอนว่าบริเวณดังกล่าวมืดสนิท ซึ่งแม้ว่าจะมีการใช้ไฟจากยานดำน้ำนำทาง ก็อาจจะต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงกว่าจะไปถึง แถมยังเสี่ยงที่จะหลงทางอีกด้วย
สำนักข่าวบีบีซี ได้อ้างอิงข้อมูลจากอดีตผู้โดยสารที่เคยร่วมทริปทัวร์ซากเรือไททานิค ของบริษัท “โอเชียนเกต” เมื่อปีที่แล้วว่า เมื่อเราลงไปถึงก้นทะเล ความมืดถือเป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้ต้องใช้เวลานานถึง 90 นาที ในการค้นหาซากเรือไททานิค
2. แรงดันอากาศใต้ทะเลลึก ซึ่งรอบๆ บริเวณซากเรือไททานิคมีความดันบรรยากาศอยู่ที่ประมาณ 40 เมกะปาสคาล หรือมากกว่าบริเวณผิวน้ำถึง 390 เท่า นั่นเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมเราจึงต้องการยานดำน้ำที่มีผนังที่หนาและแข็งแรง
3. กระแสน้ำลึก ซึ่งแม้ว่าปกติแล้วกระแสน้ำที่อยู่ใต้ทะเลจะไม่ได้รุนแรงเท่ากับบริเวณพื้นผิว แต่ก็มีปราฎการณ์หลายอย่างที่ทำให้วัตถุ หรือ ยานพาหนะใต้น้ำถูกพัดปลิวหายไปได้ อาทิ ปรากฎการณ์ที่เรียกว่า การไหลเวียนของเทอร์โมฮาไลน์ ที่เกิดจากกระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็น ซึ่งจะทำหน้าที่คล้ายสายพานพัดเอาน้ำทะเลไหลเวียนไปยังส่วนต่างๆ ของมหาสมุทรทั่วโลก
4. ตัวซากเรือไททานิคเองที่มีโอกาสถล่มลงมาได้ทุกเมื่อ หลังจากที่มันจมอยู่ก้นทะเลมานานกว่า 100 ปี แต่ตรงจุดนี้นั้นทางผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ตราบใดที่ไม่ได้ไปสัมผัสกับตัวเรือโดยตรงก็น่าจะไม่มีอันตรายเกิดขึ้น
5. การพัดพาของตะกอนใต้ทะเล แม้ว่าข้อนี้จะดูเป็นไปได้น้อยที่สุด แต่ก็เคยมีตัวอย่างให้เห็น ว่าการพัดพาของตะกอนใต้ทะเลที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันก็เคยสร้างความเสียหายแก่วัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นในอดีตมาแล้ว
ทั้งนี้ ความเสี่ยงในการลงไปสำรวจซากเรือไททานิคในปัจจุบัน ยังคงอันตรายไม่ต่างไปจากเมื่อปี 1986 ที่มีการลงไปสำรวจซากเรือไททานิคเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่มันจมลงไปก้นทะเล แม้ว่าวิทยาการจะก้าวหน้าขึ้นกว่าแต่ก่อนแล้วก็ตาม
เรือดำน้ำไททันสูญหาย
เรือดำน้ำไททันสูญหายขณะพา 5 ลูกเรือดำดิ่งทะเลลึกดูซากเรือ ไททานิค โดยกองทัพเรือสหรัฐฯ แคนาดา และหน่วยงานรัฐบาลอีกหลายหน่วย กำลังช่วยบริษัทเอกชนในกฏิบัติการค้นหา หลังขาดการติดต่อในมหาสมุทรแอตแลนติก ตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยต่างส่งเครื่องบินและเรือไปยังบริเวณกลางมหาสมุทรแอตแลนติก โดยในเรือดำน้ำมีคนอยู่ 5 คน ซึ่งรวมถึง ‘ฮามิช ฮาร์ดิง’ อภิมหาเศรษฐีอังกฤษอยู่ในเรือดำน้ำด้วย
ที่มา TNN WORLD TODAY / wikipedia
ภาพจาก รอยเตอร์