อินโด-แปซิฟิก จุดเดือดความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ย้อนเหตุการณ์สำคัญแห่งปี กับการช่วงชิงเป็นผู้มีอิทธิพลบนภูมิภาค
ภูมิภาค อินโด-แปซิฟิก กลายเป็นภูมิภาคที่ทั่วโลกจับตามอง ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างจีน และสหรัฐฯ ที่ดุเดือดตลอดทั้งปีนี้ สำหรับปี 2022 จะมีเหตุการณ์อะไรที่สำคัญ และอนาคตของจีน กับสหรัฐฯ บนภูมิภาคนี้ จะเป็นอย่างไร ติดตามได้จากรายงานพิเศษ
ในช่วงตลอดปี 2022 ที่ผ่านมา ‘อินโด-แปซิฟิก’ กลายเป็นภูมิภาคที่ทั่วโลกจับตามอง ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดระหว่างสหรัฐฯ และจีน เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล ผนวก 2 น่านน้ำมหาสมุทรเข้าไว้ด้วยกัน อันได้แก่ มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นที่อยู่อาศัยของประชากรโลกราวกึ่งหนึ่ง มีขนาดเศรษฐกิจเกือบ 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก และมีเส้นทางเดินเรือที่สำคัญ ตลอดจนเป็นที่ตั้งของ 7 กองทัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก จึงทำให้ภูมิภาคแห่งนี้ ถูกยกให้เป็นศูนย์กลางของโลกในด้านการเมือง และเศรษฐกิจ หากใครได้เข้ามามีบทบาทต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมากที่สุด ก็จะสามารถควบคุมกระแสโลกาภิวัฒน์ได้
ในช่วงรัฐบาลสมัยของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้มีการริเริ่มใช้คำ ‘อินโด-แปซิฟิก’ ก่อนช่วงการทัวร์ 5 ชาติเอเชีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2017 และกลายเป็นกรอบนโยบายของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคนี้ และเมื่อมาถึงสมัยของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ยังดำเนินนโยบายอินโด-แปซิฟิกต่อเนื่อง และยังต่อยอดจากนโยบาย “ปักหมุด” เอเชีย ของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามาด้วย ในช่วงที่จีนเดินหน้านโยบายต่างประเทศเชิงรุกอย่างหนัก
---สหรัฐฯ เปิดตัว IPEF หวังคานอำนาจจีน---
ความพยายามรุกเข้าสู่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ในปีนี้นั้น ยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม สหรัฐฯ ได้เปิดตัวกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF ร่วมกับ 13 ชาติเอเชีย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ตลอดจนการค้าที่เกี่ยวข้องบนภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจเชื่อมโยง เศรษฐกิจยืดหยุ่น เศรษฐกิจสะอาด และเศรษฐกิจยุติธรรม ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างมองว่า การออกกรอบดังกล่าว มีขึ้นเพื่อต้องการคานอำนาจกับจีน ที่เป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคนี้
ขณะที่ หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน วิจารณ์กรอบความร่วมมือดังกล่าวของสหรัฐฯ ว่า IPEF พยายามกีดกันบางประเทศที่นอกเหนือจากจีน เช่น ลาว กัมพูชา และเมียนมาร์ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับจีน และยังได้ปรับโครงสร้างระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรม ตลอดจนแบ่งแยกประเทศในภูมิภาคออกจากเศรษฐกิจจีน พร้อมชี้ว่า ทั้งหมดนี้ทำเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เองทั้งสิ้น
นอกจากนี้ สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ณ ขณะนั้น ผู้เชี่ยวชาญ มองว่า จีนมีแนวโน้มที่จะตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการขยายอิทธิพลในภูมิภาค และขยายการค้าผ่านข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ซึ่งเป็นข้อตกลงทางการค้าที่ใหญ่สุดของโลก
---‘เพโลซี’ เยือนไต้หวัน จุดชนวนไฟบนภูมิภาค---
ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนระอุดุเดือดบนภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกขึ้นอีกครั้ง เมื่อแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวันในเดือนสิงหาคม ถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของสหรัฐฯ ที่เยือนไต้หวัน ทำให้จีนส่งเครื่องบินรบ เรือรบลาดตระเวนซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันทันที พร้อมแถลงการณ์ว่า สหรัฐฯ ละเมิดหลักการจีนเดียวอย่างร้ายแรง และจะใช้มาตรการจำเป็นเพื่อปกป้องอธิปไตยของตน
ด้านทำเนียบขาวชี้แจงว่า สหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นในหลักการจีนเดียว และไม่สนับสนุนการแยกเอกราชจากจีนแผ่นดินใหญ่ของไต้หวัน และคาดหวังให้จีน และไต้หวันแก้ไขปัญหาอย่างสันติ โดยไม่มีการบีบบังคับ หรือ ใช้กำลัง
แต่หลังจากนั้น สหรัฐฯ ก็ได้ประกาศเจรจาการค้ากับไต้หวันอย่างเป็นทางการ ทั้งเรื่องการค้าดิจิทัล, การอำนวยความสะดวกทางการค้า และมาตรฐานการต่อต้านการทุจริต ส่วนทางด้านจีน หลังจากการเยือนของเพโลซี ก็ได้ทำการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันต่อเนื่องหลายวัน จนทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญหวั่นว่า จีนจะใช้สถานการณ์นี้ เป็นเหตุผลในการสร้างสถานะใหม่ หรือ Status Quo บนช่องแคบไต้หวัน จนไต้หวันประณามการซ้อมรบของจีนว่า เป็นการ “ยั่วยุอย่างร้ายแรง” ขณะที่ จีนก็ตอบโต้ว่า การตอบสนองทางทหารของจีน ต่อการเยือนของเพโลซีนั้น มีความชอบธรรม เพื่อปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดน
---สัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ดิ่งลงหนัก หวั่นกระทบ ‘อินโด-แปซิฟิก’---
นับแต่นั้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนดิ่งลงอย่างรุนแรง ทำให้เกิดความวิตกกังวลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และอาจส่งผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคง แต่รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดจากความตึงเครียดของทั้ง 2 ประเทศนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของนโยบายแต่ละประเทศบนภูมิภาคด้วย
“อยู่ที่การดำเนินการของนโยบายแต่ละประเทศด้วย เพราะว่าอำนาจการต่อรองของแต่ละประเทศก็ไม่เท่ากัน แต่ที่เราเห็นสถานการณ์ตอนนี้ เขาเรียกว่า Manage Decoupling ก็คือห่วงโซ่มูลค่า ห่วงโซ่อุปทานถูกแยกออกจากกันในหลาย ๆ มิติ และแน่นอนในหลาย ๆ มิติเอง ก็เชื่อมโยงกันอยู่ เพราะแยกกันไม่ได้ เลยไม่ใช่ The Great Decoupling แต่เป็น Mange Decoupling แทน”
“เพราะฉะนั้น ประเทศเล็ก ประเทศน้อยที่อยู่ตรงกลาง และพยายามที่จะให้ตำแหน่งตัวเองเป็นฐานการผลิต ดึงเงินลงทุนเข้ามา แล้วจะเป็นโซ่ทองคล้องใจเชื่อมโยงจีน กับโลกตะวันตก ก็จะทำนโยบายได้ยากมากยิ่งขึ้น” รศ.ดร.ปิติ กล่าว
---ไบเดน-สี พบแบบเห็นหน้าครั้งแรก ลดความตึงเครียดบนภูมิภาค---
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งจีน ได้พบและหารือร่วมกันแบบพบหน้าเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ไบเดนเข้ารับดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ และยังเป็นการพบกันในช่วงที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศร้าวฉานอย่างหนัก ก่อนการประชุม G20 ที่จัดขึ้น ณ เกาะบาหลี อินโดนีเซีย
ไบเดน ได้แถลงว่า จะไม่มีการเกิดสงครามเย็นครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ประเทศมหาอำนาจต้องร่วมกันรับผิดชอบ เพื่อแสดงให้โลกรู้ว่า พวกเขาสามารถบริหารจัดการความแตกต่างได้ และย้ำกับสีว่า นโยบายของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง และต้องการให้ความขัดแย้งได้รับการแก้ไขอย่างสันติ สหรัฐฯ จะแข่งขันกับจีนต่อไป แต่การแข่งขันจะไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง
ขณะที่ สี ได้เตือนผู้นำสหรัฐฯ ว่า อย่าข้าม “เส้นแดง” ของจีน กรณีเรื่องไต้หวัน เพราะปัญหาไต้หวันถือเป็นแกนกลางผลประโยชน์ของจีน และชี้ว่า โลกนั้นใหญ่มากพอสำหรับประเทศทั้ง 2 ในการสร้างความเจริญรุ่งเรือง และมีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันไม่มากก็น้อย
การประชุมดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายถือว่า เป็นเรื่องดีต่อภูมิภาค ช่วยให้สถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้า ตลอดจนบริเวณช่องแคบไต้หวันผ่อนคลายลง ระหว่างสองชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจ เนื่องจากต่างก็เห็นพ้องที่จะกลับมาหารือกันเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ เพื่อหาทางออกร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนในอนาคตต่อจากนี้ บทความจาก SCMP ชี้ให้เห็นว่า นักวิเคราะห์บางคน เชื่อว่า ความตึงเครียด และความคาดเดาไม่ได้ จะยังเป็นส่วนสำคัญต่อความสัมพันธ์สหรัฐฯ และจีนในระยะยาว ในขณะที่ สหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นในเป้าหมายที่จะเอาชนะจีน แม้ว่าทั้ง 2 ชาติจะยกระดับการสื่อสารมากขึ้น สหรัฐฯ และจีนจะเข้าสู่ยุคที่ “เย็นชา แต่สงบสุข” (cold but peaceful) ซึ่งจีนจะกลายเป็นคู่แข่งมากกว่าเป็นผู้ร่วมมือกับสหรัฐฯ ขณะที่ การทูตของจีนที่มีต่อสหรัฐฯ ก็เปลี่ยนไป ซึ่งเน้นย้ำว่า ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีการเผชิญหน้า เคารพซึ่งกันและกัน และได้ผลประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย แต่สิ่งที่สำคัญมากที่สุด คือ การที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
—————
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ภาพ: Getty Images
ข้อมูลอ้างอิง: