เงินบาทเปลี่ยนทิศพลิกแข็งค่า ต่างชาติแห่พักเงินบอนด์ไทยทะลุ 4 หมื่นล้าน
"รุ่ง"มองเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวกรอบ 32.50-32.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เปิดสถิติตั้งแต่ 1ส.ค.- 27ส.ค.เงินดอง-เวียดนามแข็งนำโด่ง ขณะที่เงินบาทรั้งอันดับ 3 ชี้สาเหตุเกิดจากปัจจัยทางด้าน เทคนิค-การตัดขาดทุน ผนวกแรงซื้อบอนด์ไทยทะลุ 4 หมื่นล้าน
น.ส. รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าคาดว่าเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-32.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนายเจอโรม พาวเวลล์ประ ธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดแสดงท่าทีว่าเฟดจะไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้จะมีการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ก่อนสิ้นปีนี้ก็ตาม
ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาท พลิกกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ทั้งปัจจัยทางด้านเทคนิค การตัดขาดทุน และมุมมองข่าวเชิงลบเฉพาะตัวอาจถูกสะท้อนไปมากแล้วหลังจากช่วงกลางเดือน ส.ค. อ่อนค่ากว่า 10% นับจากต้นปี การกลับสถานะการลงทุนทำให้ในระยะนี้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาพักในตลาดบอนด์ไทย อย่างไรก็ตาม คาดว่าความผันผวนระหว่างวันจะอยู่ในระดับสูง
นอกจากนี้พบว่าข้อมูลสถิติตั้งแต่ 1 ส.ค.-26 ส.ค.พบว่าเดือนนี้ต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 6.5 พันล้านบาท แต่ซื้อ พันธบัตรสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในวันที่ 25 ส.ค. ซื้อสุทธิ 2.1 หมื่นล้านบาท สูงสุดตั้งแต่ มิ.ย. 62 สูงสุดในรอบ 2 ปี 2 เดือน
สำหรับปัจจัยที่ติดตามคือข้อมูล ISM ภาคการผลิตและบริการของสหรัฐฯ ที่สำคัญคือการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ส.ค. (คาดบวก 8 แสนตำแหน่ง) ตัวเลขผู้ติดเชื้อหลังคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่อไป
ส่วนการเคลื่อนไหวสกุลภูมิภาค ตั้งแต่ 1 ส.ค.-27 ส.ค.ที่ผ่านมาพบว่าส่วนใหญ่แข็งค่ามากสุดคือเงินดอง-เวียดนาม 0.70 % รองลงมาคือริงกิต-มาเลเซีย 0.69% บาท-ไทย 0.64% รูปี-อินเดีย รู 0.33% เปียห์-อินโดนีเซีย 0.21%ดอลลาร์-ไต้หวัน 0.14% ดอลลาร์-สิงคโปร์ 0.10% เปโซ-ฟิลิปปินส์ 0.06%
ยกเว้นวอน-เกาหลีใต้อ่อนค่ามากสุด 1.66% รองลงมาคือหยวน-จีนอ่อน 0.35%
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากจังหวะค่าเงินแข็งหรืออ่อนค่าเกิดขึ้นได้เร็วมาก ส่วนสิ้นปีนี้คาดว่าเงินบาทเคลื่อนไหวในระดับ 32.50-32.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐยังไม่มีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายใหม่แม้ว่าในช่วงนี้เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น