หอการค้าเปิด 5 ปัจจัย ฉุดเศรษฐกิจ 2.2 แสนล้าน หวั่น GDP ต่ำ 2%
ม.หอการค้า เปิด 5 ปัจจัยเสี่ยง โรคระบาด งบ 63 ล่าช้า ภัยแล้ง และฝุ่น PM2.5 ฉุดเศรษฐกิจไทย 2.2 แสนล้านบาท หรือ GDP หายราว 1.3%
วันนี้ (30 ม.ค.63) นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 63 จาก 5 ปัจจัยหลัก คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ,ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 , ปัญหาภัยแล้ง และฝุ่นละออง PM2.5 จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 2.26 แสนล้านบาท หรือกระทบต่อ GDP ราว 1.3%
เมื่อประเมินผลกระทบดังกล่าวนายธนวรรธน์ ยอมรับว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยอาจโตต่ำกว่า 2% แต่อย่างไรก็ตาม ม.หอการค้าไทย ยังคงประมาณการณ์ไว้ที่ 2.8% ขึ้นอยู่กับระยะเวลา การควบคุมความเสี่ยงต่างๆ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งหอการค้าไทยจะคอยติดตามปัจจัยอย่างใกล้ชิด โดย 5 ปัจจัยเสี่ยง ที่มีน้ำหนักมากที่สุด คือ ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประเมินว่า กระทบเศรษฐกิจ 1.17 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 0.67% ของ GDP
ปัจจัยที่ 2 ความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในกรณีที่สามารถเริ่มเบิกจ่ายได้ราวเดือนเม.ย.นี้ ก็คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจราว 77,500 ล้านบาท หรือกระทบต่อ GDP ให้ลดลงราว 0.44%
ปัจจัยที่ 3 การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา กระทบความเชื่อมั่นในประเทศ ประชาชนไม่งดกิจกรรมนอกบ้าน การเดินทาง และความต้องการซื้อสินค้า ท่องเที่ยว น้อยลง เบื้องต้น หากควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในเดือน มี.ค.63 ราว 15,500 ล้านบาท หรือกระทบต่อ GDP ให้ลดลง 0.09%
ปัจจัยที่ 4 ปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ซึ่งในกรณีที่สถานการณ์ดังกล่าวได้รับการแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำก็จะทำให้ได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่เกิน 10,200 ล้านบาท หรือกระทบต่อ GDP ให้ลดลงเพียง 0.06%
ปัจจัยที่ 5 ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยเชื่อว่าหากสถานการณ์ไม่ยืดเยื้อนานไปกว่า 1 เดือน จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่เกิน 6,200 ล้านบาท หรือกระทบต่อ GDP ให้ลดลงเพียง 0.04%
หอการค้าไทย จึงเสนอแนะนโยบายต่อรัฐบาล 1.ทำตลาดเชิงรุกในตลาดนักท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มีศักยภาพ ออกมาตรการฟรีวีซ่าในระยะสั้น และเพิ่มประเทศที่สามารถขอ Visa on Arrival (VOA) ได้ 2.เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนของงบเหลื่อมปี หรืองบค้างท่อ 3.เร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเบิกจ่ายงบลงทุนเร็วขึ้น 4.กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 5.ให้สิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนขยายการลงทุน 6.ผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อเอื้ออำนวยให้ธนาคารพาณิย์ปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น และ 7.บริหารจัดการให้เงินบาทอ่อนค่าใกล้เคียงระดับ 31.50-32.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
เกาะติดข่าวที่นี่website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand