เงินบาทผันผวน ! เฟดลดสปีดขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่
"รุ่ง" มองเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 37.30-38.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐทิศทางผันผวนตลาดจับตา ประชุมเฟด 1-2 พ.ย.นี้ เคาะขึ้นดอกเบี้ย-ทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ อนาคต เผยสถิติตั้งแต่ 1 ต.ค. - 28 ต.ค.พบว่าเงินบาทอ่อนค่ารั้งอันดับอันดับ 7 ในภูมิภาค
น.ส. รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 37.30-38.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คาดผันผวนช่วงกว้างเหตุการณ์สำคัญสำหรับตลาดการเงินโลกจะอยู่ที่ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ในการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย. ซึ่งคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00%
โดยตลาดจะรอดูการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของเฟด ซึ่งจะมีผลต่อการคาดการณ์การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. ว่าจะขึ้นในอัตราที่น้อยลงหรือไม่ หากมีสัญญาณว่าเฟดจะลดความแข็งกร้าวในการคุมเข้มนโยบายหลังเดือน พ.ย. เงินบาทจะแข็งค่าต่อได้ ในทางกลับกัน กรณีที่เฟดไม่ปรับโทน ตลาดจะกลับเข้าซื้อดอลลาร์ ส่งผลให้สกุลเงินต่างๆรวมถึงเงินบาทอ่อนค่าลง เพราะในสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ร่วมตลาดมีความหวังมากขึ้นว่าเฟดอาจจะเบามือก่อนสิ้นปีนี้ และขายดอลลาร์มารอพอสมควรแล้ว
นอกจากนี้ จะมีการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ข้อมูล ISM ภาคการผลิตและบริการ รวมถึงการจ้างงานเดือน ต.ค. ของสหรัฐฯในประเทศ ติดตามดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ย. และเงินเฟ้อเดือน ต.ค.อย่างไรก็ตาม เดือนนี้ต่างชาติ ซื้อหุ้นไทย 1.6 พันล้านบาท แต่มียอดขายพันธบัตร 1.8 หมื่นล้านบาท
สำหรับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาค 1 ต.ค.-28 ต.ค.พบว่า ดอง-เวียดนามอ่อนค่ามากสุด 3.91% รองลงมาคือ รูเปียห์-อินโดนีเซีย 1.93% ริงกิต-มาเลเซีย 1.78% หยวน-จีน 1.63% รูปี-อินเดีย 1.740% ดอลลาร์-ไต้หวัน 1.07% บาท-ไทย 0.06% ยกเว้น ดอลลาร์-สิงคโปร์1.92% เปโซ-ฟิลิปปินส์ 0.87% วอน-เกาหลีใต้ 0.74 %
อย่างไรก็ตาม สกุลเงินภูมิภาคไร้ทิศทาง บางแห่งมีปัจจัยเฉพาะตัว เช่น จีน และเวียดนามแต่ภาพใหญ่ถือว่าเงินบาทเกาะกลุ่มกับตลาดโลกที่รอดูแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ ถ้าสูงเกินคาด อาจมีผลให้บาทอ่อนช่วงต้นสัปดาห์ แต่น้ำหนักหลักยังคงอยู่ที่การประเมินภาพรวมจากประธานเฟดหลังประชุม
ที่มา น.ส. รุ่ง สงวนเรือง
ภาพประกอบ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา