ลุ้นกนง.เคาะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สกัดเงินเฟ้อ-ประคองเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองกนง.เคาะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สกัดแรงกดดันเงินเฟ้อ พร้อมพยุงการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ด้านส.อ.ท.กังวลเงินบาทอ่อนกดดันไทยขาดดุลการค้าเพิ่ม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 28 ก.ย.นี้ คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.00% ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี กนง. มีแนวโน้มที่จะทยอยถอนคันเร่งทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงเปราะบางและยังคงไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม กนง. ต้องเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 37.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นระดับที่อ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี จากผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์ก่อนหน้า ที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างแข็งกร้าวมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ มีทิศทางแข็งค่า และกดดันค่าเงินในภูมิภาครวมถึงค่าเงินบาทให้อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่เงินเฟ้อไทยยังคงเร่งตัวสูงขึ้น แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับลดลงมาได้บ้าง เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และในวงกว้างขึ้น ซึ่งการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจะยิ่งไปเร่งให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นผ่านทางต้นทุนสินค้านำเข้า ดังนั้น กนง. จึงเผชิญแรงกดดันอย่างมากให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายท่ามกลางเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างมาก
"กนง. คงจะยังทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้า ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว และยังคงเปราะบางจากหนี้ในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง"
อย่างไรก็ดี หาก กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรง ก็อาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดได้ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการภาคการส่งออกของไทยได้ ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นคงเพิ่มภาระทางการเงินของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่มีความเปราะบางอยู่แต่เดิมจากปัญหาหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้น กนง. จึงเผชิญกับสถานการณ์ทางเลือกที่จะต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างประเด็นการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านการเงินผ่านอัตราแลกเปลี่ยน
ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่ผลการประชุม กนง. ในครั้งนี้อาจมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ ซึ่งคงจะเป็นอีกจุดสำคัญที่ต้องติดตามในการประชุมครั้งนี้ซึ่ง กนง. คงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลกระทบที่ตามมาของการตัดสินใจนั้นๆ
หาก กนง. มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ในการประชุม กนง. ที่จะถึงนี้ คงส่งผลให้ค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันให้อยู่ในทิศทางอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หากในระยะข้างหน้า เฟดไม่ได้มีการส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าที่ตลาดรับรู้ไปแล้ว ขณะที่หากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยเป็นไปตามคาด อาจส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดพลิกกลับมาเกินดุลได้ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งก็อาจเป็นปัจจัยหนุนต่อทิศทางค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า
นอกจากนี้ เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยแม้ว่าเงินทุนสำรองของไทยจะปรับลดลงถึง 14.0% นับตั้งแต่ต้นปี แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยอยู่ที่ระดับ 2.38 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ก.ย. 65) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 3.2 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ข้อมูล ณ ไตรมาส 1/2565) ดังนั้น สถานการณ์ปัจจุบันไทยยังคงห่างไกลจากการเกิดวิกฤติดังเช่นวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ ต้องติดตามว่า จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ เบื้องต้นหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า จะขยับอีก 0.25% ต่อปีไป อยู่ที่ระดับ 1% ต่อปีจากภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูงและค่าเงินบาทที่อ่อนค่า หากยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงเลยจะยิ่งทำให้แนวโน้มค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าต่อเนื่องได้ และจะกดดันให้ไทยเกิดการขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น
“ ค่าเงินบาทของไทยมีโอกาสหลุด 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามทิศทางการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ล่าสุดปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% และจะขึ้นดอกเบี้ยอีกไปสู่ระดับ 4.4% สิ้นปีนี้ จะทำให้ค่าเงินทุกสกุลอ่อนค่าลง เช่นเดียวกับค่าเงินบาทของไทยที่หากไม่ทำอะไรต่อไปก็จะหลุด 39 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนไปเรื่อยๆเช่นกัน ดังนั้นคงต้องดูว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% หรือ 0.50% ส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะทยอยขึ้นมากกว่า”
ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ,นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
ภาพประกอบ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย