เยอรมนีเปลี่ยนทิศนโยบายทหาร เล็งซื้อระบบต้านขีปนาวุธ หลังรัสเซียบุกยูเครน
สงครามในยูเครนทำให้เยอรมนีเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านต่างประเทศและกลาโหม และกำลังพิจารณาซื้อระบบป้องกันขีปนาวุธ ในขณะที่ญี่ปุ่น หลายสถานการณ์โลก ทำให้เริ่มมีเสียงเรียกร้องของนักการเมืองให้รัฐบาลญี่ปุ่นพิจารณาการแบ่งปันอาวุธนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ เช่นกัน
โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่น ARD ว่า เยอรมนีกำลังพิจารณาซื้อระบบป้องกันขีปนาวุธ เพื่อปกป้องการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นจากรัสเซีย และปรับปรุงด้านกลาโหมของประเทศให้ทันสมัย แต่เขาไม่ได้ให้รายละเอียดว่ากำลังพิจารณาระบบป้องกันนี้แบบใดและของประเทศใด
บิลด์ และซอนแทค หนังสือพิมพ์ของเยอรมนีรายงานก่อนหน้านี้ว่า ระบบป้องกันขีปนาวุธที่นายกรัฐมนตรีเยอรมนีหารือกับฝ่ายกลาโหมของประเทศ นั้นต้องเป็นระบบที่สามารถป้องกันขีปนาวุธได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ และมีการหารือถึงระบบ "Arrow 3" ของอิสราเอล
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า รัฐบาลเยอรมนีกำลังพิจารณาทั้ง Arrow 3 ของอิสราเอล และระบบป้องกันในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง หรือ THAAD ของสหรัฐฯ แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ
เยรูซาเล็ม โพสต์ ของอิสราเอล รายงานว่า อันเดรส ชวารซ์ สมาชิกรัฐสภาจากพรรค SDP ของนายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า ระบบป้องกันขีปนาวุธนั้นสมเหตุสมผล เพราะเยอรมนีต้องปกป้องตนเองให้ดีกว่านี้จากภัยคุกคามของรัสเซีย และต้องได้ระบบป้องกันขีปนาวุธที่ครอบคลุมทั่วประเทศโดยเร็ว ซึ่งระบบ Arrow 3 ของอิสราเอลนั้นเป็นทางออกที่ดี
---เยอรมนีเพิ่มงบทหาร---
ทั้งนี้ ไม่กี่วันหลังรัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครน นายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้ประกาศเพิ่งงบประมาณด้านกลาโหมมากกว่า 2% ของจีดีพีของประเทศ ซึ่งปกติแล้วตัวเลข 2% นั้นเป็นตัวเลขที่นาโตต้องการให้ชาติสมาชิกดำเนินการตามพันธะสัญญามานานแล้ว แต่ในความเป็นจริง มีชาติสมาชิกน้อยกว่าครึ่งที่ทำเช่นนั้น
นอกจากนี้ โชลซ์ยังประกาศจะทุ่มงบ หนึ่งแสนล้านยูโร หรือเกือบ 3.7 ล้านล้านบาท เพื่อยกระดับการทหารของประเทศด้วย
ทั้งนี้ การประกาศทุ่มงบด้านกลาโหม การจัดซื้อระบบป้องกันขีปนาวุธ รวมถึงการตัดสินใจส่งอาวุธให้ยูเครนของเยอรมนี ถือเป็นการเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศและการมองตนเองของเยอรมนี
ที่ผ่านมา ผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมนีมีแนวคิดสันตินิยม และยังมี “นโยบายตะวันออก” คือการสานสัมพันธ์ปกติกับสหภาพโซเวียด ซึ่งส่งผลมาจนถึงรัสเซีย และเยอรมนีมองว่าตนเองเป็นสะพนเชื่อมชาติตะวันตกเข้ากับรัสเซีย จึงพยายามรักษาพันธะสัญญากับพันธมิตรตะวันตก ไปพร้อม ๆ กับการรักษาสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย
จนนำไปสู่การมีส่วนร่วมกันหลายด้าน โดยเฉพาะเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จาก การพัฒนาท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม 2 นอกจากนี้ เยอรมนียังมองว่า ความมั่นคงของยุโรปนั้นจะสำเร็จได้ก็ต้องมีรัสเซียด้วย แต่กรณีที่เกิดขึ้นกับยูเครน ทำให้เยอรมนีเปลี่ยนแนวคิด และมองว่า นี่คือภัยคุกคามต่อระเบียบความมั่นคงของยุโรป
---อดีตนายกฯ ญี่ปุ่นเปรย ญี่ปุ่นควรมีอาวุธนิวเคลียร์---
สำนักข่าว Asahi รายงานว่า ชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวกับ Fuji TV เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ว่า ญี่ปุ่นควรเริ่มถกกันเรื่องการมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองได้แล้ว โดยได้พาดพิงแนวคิดขององค์การนาโต้ เรื่องการมีนิวเคลียร์เพื่อป้องปราม
อาเบะยังกล่าวว่า แม้ญี่ปุ่นไม่ได้ลงนามในสันธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และมีนโยบายอาวุธนิวเคลียร์ที่ตั้งอยู่บนหลักการสามประการ (Three Non-Nuclear Principles) คือ ไม่ผลิต ไม่ครอบครอง และไม่นำเข้าอาวุธนิวเคลียร์ แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ควรมองว่าการถกกันว่าจะรักษาความมั่นคงของโลกอย่างไรนั้นเป็น "เรื่องต้องห้าม"
ทั้งนี้ ในการดำรงตำแหน่งผู้นำญี่ปุ่นสมัยแรกของอาเบะในปี 2006 แกนนำพรรค LDP ของเขาถูกตำหนิอย่างหนักหลังเปรยว่าญี่ปุ่นควรหารือเรื่องการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องกันตนเอง หลังเกาหลีเหนือได้ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์
นายอาเบะจึงพาดพิงถึงเรื่องนี้ โดยเขาบอกว่าในตอนนั้น ผู้คนต่างต้องการให้เลี่ยงการพูดถึงเรื่องนี้ และเขามองว่า ชะตาชีวิตของชาวยูเครนอาจแตกต่างไปจากนี้ หากในช่วงปี 1990 ยูเครนไม่ยกเลิกการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ไป
---ญี่ปุ่นมีศักยภาพผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้---
อย่างไรก็ตาม ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ปฏิเสธข้อเสนอนี้ของนายอาเบะในเวลาต่อมา โดยเขามองว่า การแบ่งปันอาวุธนิวเคลียร์นั้นหมายถึง การประเทศหนึ่งต้องใช้ศักยภาพในการป้องปรามนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ เพื่อปกป้องประเทศของตนเอง ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ เอาอาวุธนิวเคลียร์มาประจำการในประเทศ แม้กระทั่งในช่วงเวลาสันติ และจะสามารถบรรจุอาวุธนิวเคลียร์ในเครื่องบินรบของตนเองเท่าไหร่ก็ได้ในยามฉุกเฉิน ดังนั้น จากหลักการสามประการของญี่ปุ่น เราไม่สามารถยอมรับการแบ่งปันนิวเคลียร์จากสหรัฐฯ ได้
ด้าน The Global Times สื่อของจีน รายงานว่า แนวคิดเช่นนี้มีมานานแล้วในกลุ่มนักการเมืองฝ่ายขวาของญี่ปุ่น ส่วนนายอาเบะเองได้กล่าวถึงอาวุธนิวเคลียร์มาหลายครั้งแล้ว
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงในหลายด้าน ที่แม้กระทั่งโจ ไบเดน เคยกล่าวไว้ตอนเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 ว่า ญี่ปุ่นมีศักยภาพที่จะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ในชั่วข้ามคืน
สื่อของจีนจึงเตือนว่า หากนักการเมืองฝ่ายขวาของญี่ปุ่นกับศักยภาพของญี่ปุ่นเองรวมกัน ผลลัพธ์จะออกมาเลวร้าย เพราะจะเป็นการเปลี่ยนธรรมชาติของประเทศญี่ปุ่น ปลดปล่อยศักยภาพทางการทหารอย่างสมบูรณ์ หลังติดอยู่ในกรอบมาเกือบ 80 ปี และจะทำให้สมดุลของนิวเคลียร์ในเอเชียพังลง สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์การเมืองจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ดังนั้น คำแถลงของอาเบะนั้นจึงไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวและปล่อยไปเฉย ๆ แต่ควรเป็นสื่งที่ประชาคมโลกควรต่อต้าน
—————
ติดตามสถานการณ์ยูเครน-รัสเซียอย่างใกล้ชิด
https://bit.ly/TNNRussiaInvasion
—————
แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง
ภาพ: AFP