ข่าวปลอม อย่าแชร์! รอยจุดสีน้ำตาลบนเนื้อกระเทียม คือ เชื้อราที่มีพิษ-สารก่อมะเร็ง
ข่าวปลอม อย่าแชร์! หากพบรอยจุดสีน้ำตาลบนเนื้อกระเทียม แสดงว่าเป็นเชื้อราที่มีพิษ และเป็นสารก่อมะเร็ง
19 พฤศจิกายน 2564 ตามที่ได้มีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง หากพบรอยจุดสีน้ำตาลบนเนื้อกระเทียม แสดงว่าเป็นเชื้อราที่มีพิษ และเป็นสารก่อมะเร็ง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากที่มีการแชร์ข้อมูลว่ารอยจุดสีน้ำตาลที่พบบนเนื้อกระเทียม คือเชื้อรา ซึ่งส่วนใหญ่เชื้อราพวกนี้เป็นเชื้อราที่มีพิษหรือสารก่อมะเร็งนั้น ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงว่า จุดสีน้ำตาลบนเนื้อกระเทียมอาจเกิดจากรอยช้ำของกระเทียมส่งผลให้เชื้อราหลากหลายชนิดอาจปนเปื้อนหรือเข้าไปเจริญอยู่ในบริเวณรอยช้ำนั้นๆ โดยมักพบในกระเทียมที่มีการเก็บรักษาไม่เหมาะสมหรือเก็บไว้เป็นเวลานาน ตามที่มีข้อกังวลว่าเชื้อราที่อยู่บนกระเทียมอาจสร้างสารพิษหรือสารก่อมะเร็งนั้น จากการสืบค้นข้อมูลงานวิจัย พบว่า เชื้อรา Aspergillus flavus และ Aspergillus parasiticus เป็นเชื้อราที่สามารถสร้างสารอะฟลาทอกซินซึ่งจัดเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าพบสารอะฟลาทอกซินบริเวณรอยจุดสีน้ำตาลบนกระเทียม
จึงแนะนำให้ควรเลือกซื้อกระเทียมที่สดใหม่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด ไม่มีลักษณะของเส้นใยและสปอร์ของเชื้อรา การเก็บรักษาควรเก็บไว้ในที่แห้งไม่อับชื้นและไม่เก็บไว้นานเกินไป หากพบรอยจุดสีน้ำตาลบนกระเทียมควรทิ้งไปทั้งกลีบหรืออาจหั่นบริเวณนั้นทิ้งและควรรับประทานกระเทียมที่ปรุงสุกเพื่อลดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02 2026800
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : รอยจุดสีน้ำตาลบนเนื้อกระเทียมคือรอยช้ำ จึงส่งผลให้เชื้อราหรือจุลินทรีย์ชนิดอื่น ๆ ปนเปื้อนหรือเข้าไปเจริญอยู่ในบริเวณรอยช้ำนั้น ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุว่ารอยจุดสีน้ำตาลบนเนื้อกระเทียมนี้มีสารก่อมะเร็ง
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ภาพ : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย