ดีอีเอส เปิด 10 อันดับ"ข่าวปลอม"ที่คนสนใจสูงสุดประจำสัปดาห์
โฆษก ดีอีเอส ฝ่ายการเมือง เผย "10 ข่าวปลอม" ที่คนสนใจสูงสุดประจำสัปดาห์ ห่วงประชาชนหลงเชื่อ หลังพบมีผู้ไม่หวังดีบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-วัคซีน และเผยแพร่ผ่านโซเชียล คาดเจตนาสร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคม
วันนี้( 30 เม.ย.65) นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า สรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 22-28 เม.ย. 65 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบจำนวนข้อความที่เข้ามา 11,704,186 ข้อความ โดยมีจำนวนที่ต้องดำเนินการ Verify ทั้งหมด 265 ข้อความ เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบ 135 เรื่อง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นข่าวเกี่ยวกับโควิด 35 เรื่อง
ขณะที่ จากการตรวจสอบในรายละเอียด พบว่าเริ่มมีผู้ไม่หวังดีเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน เกี่ยวกับโควิด และสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประสิทธิภาพ รวมทั้งผลกระทบจากวัคซีนป้องกันโควิด เพื่อสร้างความสับสนและความแตกตื่นให้กับประชาชน โดยช่วงสัปดาห์ล่าสุดนี้ มีข่าวปลอม/บิดเบือนเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้รับความสนใจเป็นลำดับต้นๆ ถึง 4 ข่าว
โดยจากสถิติข่าวปลอมที่มีคนสนใจสูงสุด 10 อันดับแรกประจำสัปดาห์ ประกอบด้วย
อันดับ 1 ห้ามชาวบ้านและชาวพุทธ เข้าไปยังเขตเขายายเที่ยง
อันดับ 2 กรุงไทยและออมสินร่วมกับบริษัทเอกชน ปล่อยสินเชื่อเงินกู้ร้อยละ 2 บาท ต่อเดือน ผ่านไลน์ @501atukf
อันดับ 3 แบงค์พันปลอมหมายเลขเดียวกันจากต่างประเทศระบาดเข้าไทย
อันดับ 4 เชื้อโอไมครอน ยังไม่มีหลักฐานมีอยู่จริงในไทย เป็นเพียงการวินิจฉัยเดาสุ่ม
อันดับ 5 หากฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ไม่สามารถป้องกัน BA.2 ได้มากกว่า BA.1
อันดับ 6 หากรับบริจาคเลือดจากผู้ที่ฉีดวัคซีนมา จะทำให้ได้รับผลจากวัคซีนดังกล่าวไปด้วย
อันดับ 7 หากโดนยึดใบขับขี่ จะไม่ได้คืนต้องไปสอบใหม่
อันดับ 8 ข้าราชการไทยออกบัตรประชาชนให้มุสลิม โดยไม่ทำตามกฎหมาย
อันดับ 9 เรื่อง 3 วิธีรักษาโรคมะเร็งด้วยตนเอง
อันดับ 10 ข้อมูลผู้ที่เสียชีวิตของสปสช. ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนทดลอง ส่วนผู้ไม่ได้ฉีดวัคซีนทดลอง ร่างกายปกติและแข็งแรงดี
นางสาวนพวรรณ กล่าวว่า เมื่อได้รับข่าวสารข้อมูลผ่านโซเชียล ขอให้ประชาชนตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ และสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87
ภาพจาก AFP