ช่วยได้แค่ไหน? รัฐคง VAT 7% ต่ออีก 1 ปี!!
รัฐบาลประกาศคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7% ต่อไปอีก 1 ปี ซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว พยุงภาระค่าใช้จ่ายประชาชน
ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT เป็นภาษีทางอ้อมประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บเวลาเราซื้อสินค้าหรือรับบริการต่างๆ โดยจัดเก็บเฉพาะจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นผลิต การจำหน่ายหรือการให้บริการ เช่น สมมติว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 ซื้อวัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์มา 100 บาท และมีภาษีซื้อ 10 บาท เมื่อผลิตเป็นสินค้าขายในราคา 150 บาท ตอนขายไปจะต้องคิดภาษีขาย 15 บาท เราก็จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะผลต่างจำนวน 15-10 = 5 บาท เท่านั้น ถ้าการซื้อ และขายเกิดขึ้นภายในรอบการจ่ายภาษีเดียวกัน
เมื่อก่อนไทยเคยเก็บภาษี VAT 10%
โดยประเทศไทยได้กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 10% แต่ทั้งนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรง คณะรัฐมนตรีจะออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 7% และหลายรัฐบาลก็ได้ต่ออายุพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวนี้มาเป็นประจำทุกปี โดยที่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 ใน 9 ที่เก็บได้ จะถูกโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และที่เหลืออีก 8 ส่วนจะถูกโอนให้แก่รัฐบาลนั่นเอง
เคยมีข่าวจะปรับขึ้นภาษี VAT เป็น 10%
ข่าวว่ารัฐบาลจะปรับขึ้นภาษีมีขึ้นทุกปี แต่ทุกครั้งที่มีข่าวก็แน่นอนว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเพราะจะเป็นการผลักภาระมาให้ประชาชนในทางอ้อม เช่น หากรัฐเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% ก็จะกระทบไปยังผู้ผลิต ที่จะต้องซื้อวัตถุดิบราคาแพงขึ้น เมื่อต้นทุนสินค้าแพงขึ้น ผู้ผลิตก็อาจจะผลักภาระมายังผู้บริโภค โดยการขายสินค้าแพงกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้คนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง และอาจจะส่งผลกระทบไปยังภาษีที่เก็บได้น้อยลงเป็นลูกโซ่ไปด้วย
แต่รัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ครม.ชุดไหน ก็จะมีการต่ออายุการลดภาษีมูลค่าเพิ่มมาโดยตลอด (เช่นเดียวกับครั้งนี้) ดังนั้น ถ้าไม่มีเหตุวิกฤตอะไรเกิดขึ้นจริงๆ ก็เชื่อว่าประเทศไทยก็จะยังคงใช้ VAT 7% ไปอีกนาน
รัฐประกาศคงอัตรา VAT 7% ต่อไปอีก 1 ปี
ในการประชุมครม.สัญจร ที่จังหวัดระยองเมื่อวานนี้(25 ส.ค.) ได้เห็นชอบต่ออายุการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ คงอัตรา VAT 7% ต่อไปอีก 1 ปี ตามที่นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอ เพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นให้เอกฃน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. นี้ ไปจนถึง 30 ก.ย. 2564
ทั้งนี้ ครม. จะประกาศเป็นกฎหมาย ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... (มาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- ข้อกฎหมายปัจจุบันได้กําหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สําหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนําเข้าทุกกรณี โดยให้จัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 646) พ.ศ. 2560 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 684) พ.ศ. 2562 โดยกําหนดเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว ใกล้จะสิ้นสุดลง
- ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว จากมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมทั้งการทยอยผ่อนปรนมาตรการจํากัดการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ภาคธุรกิจสามารถกลับมาดําเนินธุรกิจได้ตามปกติ ซึ่งเป็นปัจจัย สนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศหดตัวน้อยลง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เชื่อมั่นว่าการคงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 6.3%( ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือ 7%(รวมภาษีท้องถิ่น) จะมีส่วนสนับสนุน ให้ระบบเศรษฐกิจในปี 2564 กลับมาฟื้นตัวหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลาย
คง VAT 7% ทำให้รัฐสูญเสียรายได้!!
แน่นอนว่ารายได้ส่วนใหญ่ของรัฐบาล จะมาจากภาษีอากร และภาษีอากรที่มีสัดส่วนสูงสุดก็คือภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งการคง VAT ไว้ที่ 7% นั้น ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ส่วนต่าง 3% หรือประมาณ 250,000 ล้านบาท
คง VAT 7% ไม่ได้ช่วยกระตุ้นการจับจ่าย
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ผู้เชี่ยวชาญการค้าระหว่างประเทศ และ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ในฐานะภาคเอกชนมองว่า การคงอัตราภาษี VAT ไว้ที่ 7% เท่าเดิมอาจจะไม่ได้ช่วยกระตุ้นการบริโภคของประชาชนมากนัก เนื่องจากการคง VAT มีมาต่อเนื่องจนทำให้ประชาชนเกิดความเคยชิน อีกทั้งจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อประชาชนยังไม่ฟื้นตัว แม้จะคงอัตราภาษีแต่ยังไม่สามารถจูงใจให้ประชาชนออกมาจับจ่ายได้ หากไม่มีมาตรการเสริมเพิ่มเติม
แต่ในกรณีที่รัฐบาลปรับลดอัตราภาษี VAT เหลือประมาณ 4-5 % ก็อาจจะมีผลในเชิงจิตวิทยา หรือช่วยกระตุ้นการบริโภคได้บ้าง แต่ในแง่ของต้นทุนอาจจะช่วยได้ไม่มาก รวมทั้งจะทำให้รัฐต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม การจะขึ้นภาษีในช่วงนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เพราะเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19
เศรษฐกิจไทยเสี่ยงติดลบมากกว่า7.5%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เคยประเมินไว้ว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงติดลบมากกว่า 7.5% ขึ้นอยู่กับปัจจัยการเมืองว่าจะต้องไม่บานปลาย โดยหากยังไม่มีการใช้ความรุนแรง เป็นการชุมนุมแบบสงบจะไม่มีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย แต่มีผลกระทบเชิงลบต่อจิตวิทยาในการลงทุนอยู่บ้าง และต้องไม่เกิดการระบาดของโควิด-19 รอบ 2
แต่ถ้ามีการระบาดรอบ 2 และล็อกดาวน์บางพื้นที่ เศรษฐกิจไทยจะเสียหายวันละ 3,000-5,000 ล้านบาท เดือนละ 100,000-150,000 ล้านบาท แต่ถ้าสถานการณ์รุนแรงจนล็อกดาวน์ประเทศเหมือนช่วงต้นปี มูลค่าการใช้จ่ายจะหายไปวันละ 8,000-9,000 ล้านบาท หรือเดือนละ 240,000-270,000 ล้านบาท แต่เชื่อว่ากรณีนี้น่าจะเกิดขึ้นยาก
อย่างน้อยการไม่ขึ้นภาษีก็ไม่เป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชนไปจากปกติ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ยังต้องดําเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆเป็นตัวเสริม เพื่อดึงกำลังซื้อของประชาชนกลับมาให้ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิด 9 ระบบ 'Easy Tax' ช่วยให้เรื่องภาษีง่ายขึ้น
ส่องนวัตกรรม "เรือเฟอรี่ไฟฟ้า" ลำแรกของไทย
สินเชื่อแบงก์ยังโต สะท้อนอะไรต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้?
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.comfacebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE