TNN นาซาคัดเลือกทีมจากประเทศไทยผ่านเข้ารอบ Deep Space Food Challenge

TNN

Tech

นาซาคัดเลือกทีมจากประเทศไทยผ่านเข้ารอบ Deep Space Food Challenge

นาซาคัดเลือกทีมจากประเทศไทยผ่านเข้ารอบ Deep Space Food Challenge

ทีม KEETA จากประเทศไทยนำเสนอเทคโนโลยีการผลิตอาหารด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ โดยใช้วัตถุดิบจากระบบนิเวศขนาดจิ๋ว

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติหรือนาซาประกาศผลทีมที่ได้รับการคัดเลือกผ่านเข้ารอบการแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีอาหารสำหรับนักบินอวกาศ Deep Space Food Challenge โดยเป็นทีมจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา 18 ทีม ทีมจากต่างประเทศนานาชาติ 10 ทีม ซึ่งทีม KEETA จากประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ทีม ที่ผ่านเข้ารอบการแข่งขันในรอบที่ 2 ร่วมกับทีมจากประเทศโคลอมเบีย เยอรมนี ออสเตรเลีย อิตาลี บราซิล ซาอุดีอาระเบีย ฟินแลนด์ และอินเดีย


โจทย์การแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีอาหารสำหรับนักบินอวกาศ Deep Space Food Challenge กำหนดให้แต่ละทีมพัฒนาเทคโนโลยีอาหารเพียงพอที่จะทำให้นักบินอวกาศ 4 คน ดำรงชีพอยู่ในอวกาศได้นาน 3 ปี โดยไม่ต้องเติมเสบียงจากโลก รวมไปถึงแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารบนโลก อาหารที่ถูกผลิตขึ้นสร้างของเสียน้อยที่สุด มีความหลากหลายของเมนูอาหารใช้เวลาในการเตรียมอาหารน้อย


ทีม KEETA จากประเทศไทยนำเสนอเทคโนโลยีการผลิตอาหารด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ โดยใช้วัตถุดิบจากระบบนิเวศขนาดจิ๋ว การเลี้ยงแมลง หนอน มดและการปลูกพืช ที่พึ่งพาอาศัยกันบนอวกาศภายใต้สภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมอย่างเป็นระบบสามารถผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงเป็นแหล่งโปรตีน วิตามินและแร่ธาตุสูง สำหรับนักบินอวกาศได้เป็นระยะเวลานาน


สมาชิกทีม KEETA ประกอบด้วย นางสาวนภัสธนันท์ พรพิมลโชค นักศึกษาวิศวกรรมอากาศยาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายประพันธ์พงศ์ ดำส่งแสง นักศึกษาปริญญาเอก KTH Royal Institute of Technology ประเทศสวีเดน นายสิทธิพล คูเสริมมิตร นักศึกษาวิศวกรรมอากาศยาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายวัชรินทร์ อันเวช นักศึกษาปริญญาโทชีวเคมีการแพทย์และชีววิทยาโมเลกุล ม.มหิดล ดร. วเรศ จันทร์เจริญ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์


นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของวงการอวกาศไทยที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีอาหารสำหรับนักบินอวกาศใช้บริโภคในอวกาศได้เป็นระยะเวลานาน โดยใช้องค์ความรู้และจุดเด่นของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางด้านทรัพยากรชีวภาพผสมเข้ากับเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่กำลังกลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการขับเคลื่อนด้านต่าง ๆ รวมไปถึงวงการอวกาศและการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารในบางพื้นที่บนโลก



ข้อมูลจาก  space.com, World Space Week Thailand 

ภาพจาก nasa.com


ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ