TNN ครบรอบ 54 ปี ภารกิจ Apollo 11 การเดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์

TNN

Tech

ครบรอบ 54 ปี ภารกิจ Apollo 11 การเดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์

ครบรอบ 54 ปี ภารกิจ Apollo 11 การเดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์

“นี่คือก้าวเล็กๆ ของคนคนหนึ่ง และเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” นีล อาร์มสตรอง ผู้บังคับการภารกิจอะพอลโล 11 (Apollo 11)

20 กรกฎาคม 1969 วันนี้เมื่อ 54 ปีก่อน ภารกิจอะพอลโล 11 (Apollo 11) ภารกิจแรกที่มนุษย์ถูกส่งไปทำการเดินบนดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ในระหว่างการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศช่วงสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ความสำเร็จครั้งสำคัญของนักบินอวกาศ 3 คน ประกอบด้วยนักบินอวกาศนีล อาร์มสตรอง ผู้บังคับการภารกิจ, บัซ อัลดริน นักบินยานลงจอดบนดวงจันทร์และไมเคิล คอลลินส์ นักบินยานบังคับการ รวมไปถึงทีมงานภาคพื้นบนโลกอีกหลายแสนคน


ครบรอบ 54 ปี ภารกิจ Apollo 11 การเดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์


ป้าหมายของภารกิจอะพอลโล 11


เป้าหมายของภารกิจ คือ การสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์พร้อมกับเก็บตัวอย่างหินบนดวงจันทร์กลับมายังโลก การบันทึกภาพถ่ายมุมมองต่าง ๆ ของดวงจันทร์และถ่ายทอดสดกลับมาให้ผู้ชมบนโลกรับชมวินาทีประวัติศาสตร์ โดยใช้สถานีรับสัญญาณ Goldstone ในสหรัฐอเมริกาและสถานีรับสัญญาณ Honeysuckle Creek ในออสเตรเลีย เพื่อความต่อเนื่องของการถ่ายทอดสด โดยคาดว่ามีผู้รับชมพร้อมกันทั่วโลก 600 ล้านคน 


ภายหลังจากเหยียบผิวดวงจันทร์ นีล อาร์มสตรองรีบเก็บหินบนดวงจันทร์ใส่กระเป๋าบริเวณต้นขาขวาเพื่อรับประกันว่าหากเกิดข้อผิดพลาดและต้องรีบหนีขึ้นยานอวกาศ นาซาจะมีหินบนดวงจันทร์ติดตัวนักบินอวกาศกลับมาด้วย นอกจากนี้ในระหว่างการสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์นักบินอวกาศทั้งสองได้นำธงชาติสหรัฐอเมริกาไปปักไว้บนดวงจันทร์และธงผืนดังกล่าวยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน

 

จรวดและยานอวกาศ


จรวดที่ใช้ในภารกิจอะพอลโล 11 มีชื่อว่าจรวดแซทเทิร์น 5 (Saturn V) นับเป็นจรวดที่ทรงพลังมากที่สุดในยุคนั้น พัฒนาโดยความร่วมมือของนาซาและบริษัท Boeing, North American Aviation และบริษัท Douglas Aircraft ระบบคอมพิวเตอร์ในตัวจรวดพัฒนาโดยบริษัท IBM โครงสร้างจรวดมีความสูง 111 เมตร จรวดใช้เชื้อเพลิงเป็นน้ำมันก๊าดและออกซิเจนเหลว จรวดแบ่งการทำงานเป็น 3 ขั้นตอน


ยานอวกาศที่ใช้ภารกิจอะพอลโล 11 แบ่งออกเป็น 2 โมดูล คือ โมดูลยานบังคับการ (Apollo command and service module) ทำหน้าที่เป็นยานบังคับการที่อยู่อาศัยของนักบินอวกาศระหว่างเดินทางและใช้เดินทางผ่านชั้นบรรยากาศเพื่อกลับลงสู่พื้นโลก และโมดูลยานลงจอด (Apollo Lunar Module) ยานอวกาศในส่วนนี้มีความสำคัญต่อการลงจอดสามารถลงจอดบนดวงจันทร์และแยกตัวบินขึ้นจากพื้นผิวดวงจันทร์


ครบรอบ 54 ปี ภารกิจ Apollo 11 การเดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์


มนุษย์คนแรกบนดวงจันทร์


นีล อาร์มสตรอง ในฐานะผู้บังคับการยานอวกาศในภารกิจอะพอลโล 11 ได้รับเลือกให้เป็นมนุษย์คนแรกที่เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ โดยถูกคัดเลือกจากความสามารถ ความฉลาดในการตัดสินใจเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับภารกิจในช่วงเวลาแห่งความเป็นและความตายได้อย่างถูกต้อง 


โดยก่อนหน้านี้นีล อาร์มสตรองได้เอาชีวิตรอดจากภารกิจที่ยากลำบากมาได้หลายครั้ง เช่น ภารกิจทดสอบต้นแบบยานอวกาศ Lunar Landing Research Vehicle 1 ระเบิดขณะทำการทดสอบ รวมไปถึงภารกิจ Gemini 8 ซึ่งเป็นการนำยานอวกาศเข้าเชื่อมต่อบนวงโคจรของโลกเป็นครั้งแรกและเกือบกลายเป็นโศกนาฏกรรมบนอวกาศ โดยนีล อาร์มสตรองได้แสดงความสามารถและการตัดสินใจที่ยอดเยี่ยม


นีล อาร์มสตรอง ไม่ค่อยออกสื่อและเปิดเผยชีวิตส่วนตัวมากนัก โดยทั่วไปเขามีนิสัยเป็นคนเงียบสงบ สุขุม มีความรอบคอบแต่มีความมั่นใจในตัวเองสูง ความรับผิดชอบต่อภารกิจ ภายหลังภารกิจอะพอล 11 และการเดินสายแนะนำตัวประเทศต่าง ๆ เขากลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบและรักความเป็นส่วนตัว ครั้งหนึ่งเขาเคยไปตัดผมที่ร้านและถูกชายคนหนึ่งขโมยเส้นผมของเขาไปขาย กล่าวกันว่าเรื่องนี้ทำให้นีล อาร์มสตรองไม่พอใจเป็นอย่างมาก


ครบรอบ 54 ปี ภารกิจ Apollo 11 การเดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์


เรื่องไม่ลับแต่คนไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับภารกิจอะพอลโล 11


สหรัฐอเมริกาเกือบพ่ายแพ้ในการแข่งขันไปดวงจันทร์ที่ดุเดือดระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต โดยทางสหภาพโซเวียตได้เตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ ทั้งยานอวกาศและการฝึกนักบินสำหรับการลงจอดบนดวงจันทร์เกือบสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามจรวด N1 ของสหภาพโซเวียตไม่ประสบความสำเร็จในการบินขึ้นจากโลกและล้มเหลวในการทดสอบหลายครั้ง รวมไปถึงงบประมาณที่เริ่มไม่เพียงพอทำให้กลายเป็นโอกาสของสหรัฐอเมริกาที่พัฒนาโครงการอะพอลโลไปอย่างรวดเร็วมากกว่า


นักคณิตศาสตร์ที่เป็นผู้คำนวณวิถีวงโคจรของยานอวกาศในภารกิจอะพอลโล 11 เป็นผู้หญิงชาวสหรัฐอเมริกาเชื้อสายแอปริกัน ชื่อว่า แคเทอรีน จอห์นสัน โดยใช้แรงโน้มถ่วงของโลกและดวงจันทร์เป็นเครื่องมือในการรับส่งยานอวกาศเดินทางกลับโลกอย่างปลอดภัยเรียกว่าวิถีวนกลับอิสระ (Free-return trajectory) โดยใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่น้อยลง


นักบินอวกาศบัซ อัลดริน นักบินอวกาศคนแรกที่ฉี่บนดาวดวงอื่น ภารกิจต้องมาก่อนการเข้าห้องน้ำทำให้นักบินอวกาศบัซ อัลดริน ฉี่ใส่อุปกรณ์เครื่องเก็บน้ำปัสสาวะที่อยู่ในชุดอวกาศ ก่อนการก้าวลงจากยานอวกาศ อย่างไรก็ตามในระหว่างการก้าวลงจากยานเขากระโดดลงสูงเกินไปทำให้ท่อเก็บฉี่ในชุดอวกาศได้รับแรงกระแทกจนเกิดรอยรั่วออกมา ทำให้มีน้ำปัสสาวะหลุดออกมาจำนวนหนึ่งและเขาต้องทำภารกิจต่อไปแม้จะรู้ว่ามีน้ำปัสสาวะของตัวเองรั่วหลุดออกมาในชุดอวกาศ


นอกจากยานอวกาศบางส่วนที่จอดทิ้งเอาไว้บนดวงจันทร์นักบินอวกาศในภารกิจอะพอลโล 11 ยังได้ทำการติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า Passive Seismic Experiment Package (PSEP) เพื่อใช้ติดตามการเคลื่อนตัวของพื้นผิวดวงจันทร์และองค์ประกอบอื่น ๆ ส่งข้อมูลกลับมายังโลก รวมไปถึงแผ่นกระจกสะท้อนแสงเลเซอร์ Lunar Laser Ranging experiments เพื่อวัดระยะห่างระหว่างโลกและดวงจันทร์โดยใช้แสงเลเซอร์ที่มีความแม่นยำสูงเพื่อยืนยันแนวคิดที่ว่าดวงจันทร์ถอยห่างออกจากโลกตลอดเวลา


ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ Wikipedia.org, NASA

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ