TNN 4 เหตุการณ์สะเทือนขวัญ ภารกิจสำรวจอวกาศที่แลกด้วยชีวิต

TNN

Tech

4 เหตุการณ์สะเทือนขวัญ ภารกิจสำรวจอวกาศที่แลกด้วยชีวิต

4 เหตุการณ์สะเทือนขวัญ ภารกิจสำรวจอวกาศที่แลกด้วยชีวิต

รวม 4 เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศของมนุษยชาติ ที่ทำให้นักบินอวกาศถึงแก่ชีวิต !

แม้การสำรวจอวกาศจะเติบโตไปในทางที่ดีอย่างรวดเร็ว แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะสวยหรูและเป็นไปอย่างราบรื่น โดย ภ เหตุการณ์ดังต่อไปนี้เรียกได้ว่าเป็นอุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่นำมาซึ่งความสลดใจ แต่ก็นำมาซึ่งบทเรียน


เพลิงมรณะอะพอลโล 1 (Apollo 1) 

ในวันที่ 27 มกราคม 1967 ระหว่างที่กัซ กริมสัน (Gus Grissom), เอ็ดเวิร์ด ไวท์ (Edward White) และโรเจอร์ แชฟฟี (Roger Chaffee) 3 นักบินอวกาศในภารกิจอะพอลโล 1 (Apollo 1) ทำการทดสอบการบินแบบจำลองในยานอวกาศซีเอสเอ็ม 012 (CSM 012) ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นภายในยาน โดยเปลวเพลิงได้ลุกตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรง เนื่องจากภายในยานอวกาศมีออกซิเจนบริสุทธิ์อยู่ที่ 16.7 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว หรือ 115 กิโลปาสกาล ซึ่งเสียงกรีดร้องด้วยความเจ็บปวดของเหล่านักบินอวกาศได้ถูกถ่ายทอดไปยังสถานีควบคุมภาคพื้นดินเป็นเวลานาน 5 วินาที ก่อนจะสิ้นสุดไป


4 เหตุการณ์สะเทือนขวัญ ภารกิจสำรวจอวกาศที่แลกด้วยชีวิต ภาพจาก Wikipedia

อย่างไรก็ตามแม้ว่าสถานีควบคุมภาคพื้นดินจะได้ยินคำร้องขอความช่วยเหลือของนักบินอวกาศแต่พวกเขาก็ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ ด้วยระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที แต่เปลวไฟที่ถูกเลี้ยงด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ภายในยานได้ก่อให้เกิดความดันถึง 29 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว หรือ 200 กิโลปาสกาล จนดันผนังของยานอวกาศออกมา และทำให้เกิดควันหนาคละคลุ้ง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่ยานอวกาศจะระเบิด และทำให้เชื้อเพลิงของจรวดระเบิดไปด้วย ซึ่งนั่นอาจนำมาถึงชีวิตของเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินในบริเวณนั้นทั้งหมด


โดยจากการชันสูตรพบแผลไฟไหม้ระดับ 3 บนร่างกายของนักบินอวกาศทั้ง 3 ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตของทั้งหมดมาจากภาวะหัวใจหยุดเต้นซึ่งเกิดจากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่มีความเข้มข้นสูง


ร่มชูชีพที่ไม่ทำงานของภารกิจโซยุซ 1 (Soyuz 1) 

วลาดิมีร์ โคมารอฟ (Vladimir Komarov) เป็นหนึ่งในนักบินอวกาศกลุ่มแรกของสหภาพโซเวียต และเป็นนักบินอวกาศคนแรกที่เข้าสู่อวกาศถึง 2 ครั้ง ซึ่งในครั้งที่ 2 นั้นเองที่กลายมาเป้นการเดินทางในเที่ยวบินอวกาศครั้งสุดท้ายของเขา โดยในวันที่ 23 เมษายน 1967 ขณะที่ยานอวกาศโซยุซ (Soyuz) ในภารกิจโซยุซ 1 (Soyuz 1) กำลังทำการกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก เพื่อลงจอดหลังทำการโคจรรอบโลกเป็นจำนวน 18 รอบ ได้เกิดปัญหาขึ้นเมื่อร่มชูชีพหลักของยานอวกาศไม่ทำงาน ส่งผลให้ยานอวกาศที่มีวลาดิมีร์ โคมารอฟอยู่ในนั้นโหม่งเข้ากับโลกอย่างจังในแคว้นโอเรนบุร์ก ด้วยความเร็วประมาณ 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้นักบินอวกาศผู้โชคร้ายเสียชีวิตคาที่ในทันที


4 เหตุการณ์สะเทือนขวัญ ภารกิจสำรวจอวกาศที่แลกด้วยชีวิต ภาพจาก Wikipedia

โศกนาฏกรรมกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ (Space Shuttle Challenger) 

โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่ทำให้โครงการกระสวยอวกาศ (Space Shuttle Program) ของนาซา (NASA) ถูกระงับเป็นระยะเวลานานถึง 32 เดือน ซึ่งเริ่มจากวันที่ 28 มกราคม 1986 ที่กระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ลุกไหม้และแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ เหนือมหาสมุทรแอตแลนติก นอกชายฝั่งแหลมคะแนเวอรัล รัฐฟลอริดา หลังขึ้นบินได้เพียง 73 วินาที เท่านั้น ซึ่งเกิดจากความเสียหายของบูสเตอร์กระสวยอวกาศ 


4 เหตุการณ์สะเทือนขวัญ ภารกิจสำรวจอวกาศที่แลกด้วยชีวิต ภาพจาก Wikipedia

โดยทำให้นักบินอวกาศทั้ง 7 คน ได้แก่ ริชาร์ด สโคบี (Richard Scobee), ไมเคิล สมิธ (Michael Smith), โรนัลด์ แมคแนร์ (Ronald McNair), แอลลิสัน โอนิซุกะ (Ellison Onizuka), จูดิธ เรสนิค (Judith Resnik), เกรกอรี จาร์วิส (Gregory Jarvis) และคริสตา แมคออลิฟ (Christa McAuliffe) เสียชีวิต ซึ่งมันน่าสลดเข้าไปอีกเพราะคริสตา แมคออลิฟเป็นพลเรือนที่ประกอบอาชีพครู และได้รับเลือกให้ร่วมภารกิจในครั้งนี้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ แต่กลับเกิดเรื่องไม่คาดคิดขึ้นแทน


โดยหลังจากกู้ร่าง แม้ทีมชันสูตรจะไม่สามารถระบุเวลาเสียชีวิตของแต่ละคนได้อย่างชัดเจน แต่พบว่านักบินอวกาศบางส่วนรอดชีวิตจากกระสวยอวกาศระเบิด แต่เสียชีวิตจากแรงกระแทกกับผิวมหาสมุทร


โศกนาฏกรรมกระสวยอวกาศโคลัมเบีย (Space Shuttle Columbia) 

สำหรับโศกนาฏกรรมกระสวยอวกาศโคลัมเบีย (Space Shuttle Columbia) เกิดขึ้นในปี 2003 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่กลายเป็นภารกิจสุดท้ายของกระสวยอวกาศโคลัมเบีย


4 เหตุการณ์สะเทือนขวัญ ภารกิจสำรวจอวกาศที่แลกด้วยชีวิต ภาพจาก Wikipedia

เรื่องราวเริ่มขึ้น หลังจากกระสวยอวกาศโคลัมเบียเสร็จสิ้นภารกิจ และกำลังทำการลงจอด แต่ ! กระสวยอวกาศกลับลุกเป็นไฟ แตกออกเป็นชิ้น ๆ ตกลงสู่พื้นโลก เหนือเขตรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้นักบินอวกาศ 7 คน ได้แก่ ริก ฮัสแบนด์ (Rick Husband)วิลเลียม แมคคูล (William McCool)ไมเคิล แอนเดอร์สัน (Michael Anderson)คาลปานา ชอว์ลา (Kalpana Chawla)เดวิด บราวน์ (David Brown)ลอเรล คลาร์ก (Laurel Clark) และอิลาน รามอน (Ilan Ramon) เสียชีวิตทั้งหมด


โดยสาเหตุอาจมาจากความเสียหายอย่างรุนแรงบริเวณปีกด้านซ้ายของกระสวยอวกาศ จนก่อให้เกิดเพลิงไหม้ และทำให้กระสวยอวกาศระเบิดออกในท้ายที่สุด ในขณะที่สาเหตุการเสียชีวิตของนักบินอวกาศถูกสันนิษฐานว่า น่าจะมาจากการขาดอากาศระหว่างที่กระสวยอวกาศตก หรือถูกกระแทกระหว่างที่กระสวยอวกาศเสียการควบคุมและหมุนอย่างรุนแรง



ข่าวแนะนำ