นอร์เวย์เปิดตัวกังหันลมหมุนตามแนวตั้งสุดพิลึก แต่ให้ไฟมากกว่าทรงเดิม 2 เท่า
บริษัทในนอร์เวย์เปิดตัวกังหันลมที่หมุนรับลมในแนวตั้งตามแกนเสาแทนแบบปกติ ที่อ้างว่าผลิตไฟฟ้าได้มากกว่ากังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันถึง 2 เท่า
กังหันลมเป็นหนึ่งในเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานทางเลือกที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะกังหันลมชายฝั่ง อย่างไรก็ตาม ยิ่งห่างจากชายฝั่ง กังหันลมจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้น้อยลงตามไปด้วย วิศวกรจากนอร์เวย์จึงได้พัฒนากังหันลมในแนวดิ่งแบบใหม่ล่าสุดที่สามารถดักลมและสร้างพลังงานได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะมีลมมาจากทิศทางใดก็ตาม
กังหันลมในปัจจุบันที่มีเสาและใบพัดสามแฉกหมุนในแนวตั้งฉากกับเสาเรียกว่า กังหันลมแกนราบ หรือ HAWT (Horizontal-Axis Wind Turbine) แต่ก็มีการออกแบบกังหันลมแกนดิ่ง หรือ VAWT (Vertical-Axis Wind Turbine) มานานแล้วพอสมควร แต่ว่าไม่ได้รับความนิยมเพราะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าแบบแกนราบ อย่างไรก็ตาม บริษัท เวิลด์ไวด์วินด์ (World Wide Wind) ได้ออกแบบกังหันลมแกนดิ่งแบบใหม่ที่จะเปลี่ยนการสร้างกระแสไฟฟ้าพลังงานลมอย่างมหาศาล
กังหันลมแบบใหม่ของบริษัทสตาร์ตอัปนอร์เวย์มีชื่อว่า กังหันลมแกนดิ่งหมุนสลับหรือ CRVT (Contra-Rotating Vertical Turbine) เป็นกังหันลมแบบลอยได้ (Floating Turbine) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ต้องปักโครงสร้างลงบนพื้นทะเล มีน้ำหนักเบา ติดตั้งได้ทุกพื้นที่ พร้อมการยกเครื่องกลไกการทำงานของกังหันลมแกนดิ่งให้มีประสิทธิภาพสูง ด้วยการติดตั้งใบพัดแกนดิ่งแบบคู่ โดยให้กังหันแต่ละใบหมุนวนในทิศตรงกันข้ามตามแนวแกนดิ่ง และให้ใบพัดด้านล่างที่ติดกับทุ่นลอยน้ำมีขนาดใหญ่กว่า เพื่อให้อากาศสามารถไหลผ่านและสร้างกระแสลมหมุนใบพัดได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การหมุนที่ได้จะปั่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องและส่งไปยังสายนำส่งกระแสไฟฟ้าต่อไป
CRVT แต่ละตัวมีขนาดที่ใหญ่มาก โดยมีความสูงถึง 400 เมตร แต่ก็ให้กำลังการผลิตสูงตามไปด้วย โดยบริษัท เวิลด์ไวด์วินด์ (World Wide Wind) อ้างว่า CRVT สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้ถึง 40 เมกะวัตต์ (MW) สูงเกิน 2 เท่า ของกังหันลมแบบ HAWT ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หมิงหยาง สมาร์ตเอเนอร์จี (MingYang Smart Energy) ที่มีความสูง 242 เมตร ให้กำลังการผลิตเพียง 16 เมกะวัตต์ พร้อมยังเกทับด้วยว่าต้นทุนต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้าตลอดอายุการใช้งานสุทธิหรือ LCoE (Levelized Cost of Energy) นั้นน้อยกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 1,800 บาทต่อเมกะวัตต์ ซึ่งน้อยกว่าค่ากลางที่รัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งเอาไว้สำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยลมในประเทศด้วยซ้ำ
CRVT ในขณะนี้ยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น โดยทางบริษัท เวิลด์ไวด์วินด์ (World Wide Wind) จะเร่งการดำเนินการพัฒนาให้ทันเปิดตัวต้นแบบขนาด 3 เมกะวัตต์ (MW) เพื่อทดสอบและเริ่มการผลิตจริงในอีก 4 ปี ข้างหน้า ส่วนรุ่นยักษ์ 40 เมกะวัตต์ (MW) คาดว่าจะเสร็จสิ้นพร้อมใช้งานในปี 2029 หรือไม่เกิน 7 ปี ต่อจากนี้
ที่มาข้อมูล New Atlas
ที่มารูปภาพ World Wide Wind
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67