![ภาพกาแล็กซีกงเกวียน ถูกถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์](/static/images/e5a8c80a-a20e-49a5-9d1f-bb427c5be1dd.jpg)
![ภาพกาแล็กซีกงเกวียน ถูกถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์](/static/images/e5a8c80a-a20e-49a5-9d1f-bb427c5be1dd.jpg)
สรุปข่าว
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) จับภาพการก่อตัวดาวฤกษ์ในกาแล็กซีรูปวงล้อ ซึ่งก่อตัวขึ้นจากการชนของกาแล็กซีเมื่อนานมาแล้ว
กาแล็กซีดังกล่าวเรียกว่ากาแล็กซีกงเกวียน (Cartwheel Galaxy) เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับล้อของรถม้าแบบเก่า โดยก่อนหน้านี้ได้มีการพยายามถ่ายรูปกาแล็กซีกงเกวียนด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) มาแล้ว แต่การมองด้วยแสงอินฟราเรด (Infrared) ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ได้เผยให้เห็นรายละเอียดมากมายที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในโครงสร้างของกาแล็กซี
แสงอินฟราเรดซึ่งโดยพื้นฐานแล้วคือความร้อนสามารถทะลุผ่านเมฆฝุ่นในอวกาศได้ ทำให้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ มองเข้าไปในบริเวณต่าง ๆ ของอวกาศที่ถูกบดบังได้ดี ในขณะที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศแบบออปติคัล เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ซึ่งมองเห็นในช่วงแสงที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า (Visible light) ไม่สามารถมองผ่านเมฆฝุ่นในอวกาศได้
ในภาพใหม่นี้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ได้เปิดเผยให้เห็นดาวแต่ละดวงภายในบริเวณวงแหวนรอบนอกของกาแล็กซีกงเกวียน ตลอดจนกระจุกดาวอายุน้อยรอบ ๆ หลุมดำมวลมหาศาลใจกลางกาแล็กซี ซึ่งปกคลุมไปด้วยฝุ่น
โดยกาแล็กซีกงเกวียนตั้งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 500 ล้านปีแสง ในกลุ่มดาวช่างแกะสลัก ในซีกฟ้าใต้ ซึ่งเป็นกาแล็กซีชนิดวงแหวน (Ring Galaxy) ที่หาได้ค่อนข้างยาก ทั้งนี้ นักดาราศาสตร์เชื่อว่าการชนกันของกาแล็กซีทำให้รูปร่างและโครงสร้างของกาแล็กซีเปลี่ยนไป จนก่อตัวเป็นโครงสร้างคล้ายวงแหวน 2 โครงสร้าง โครงหนึ่งล้อมรอบใจกลางกาแล็กซี และอีกโครงหนึ่งล้อมรอบกาแล็กซีทั้งหมด โดยวงแหวนทั้ง 2 วง ขยายออกจากใจกลางกาแล็กซีเหมือนกัน
เมื่อวงแหวนรอบนอกขยายตัว มันจะผลักฝุ่นและก๊าซที่ล้อมรอบกาแล็กซีออกไปด้านนอกและทำให้เกิดการก่อตัวดาวฤกษ์ บริเวณที่เกิดดาวดวงใหม่จะปรากฏเป็นจุดสีน้ำเงินเล็ก ๆ ในภาพและกระจัดกระจายไปทั่วกาแล็กซี แต่จะกระจุกตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงแหวนรอบนอก
นอกจากนี้ การสังเกตการณ์ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ยังเผยให้เห็นบริเวณที่อุดมไปด้วยไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) และฝุ่นซิลิเกต ซึ่งก่อให้เกิดซี่ล้อที่เชื่อมต่อวงแหวนด้านในและด้านนอก
ข้อมูลจาก www.space.com
ภาพจาก www.nasa.gov
ที่มาข้อมูล : -