TNN เด็กไทยดังไกลระดับโลก! กับผลงานสำรวจดวงจันทร์ยุคใหม่

TNN

Tech

เด็กไทยดังไกลระดับโลก! กับผลงานสำรวจดวงจันทร์ยุคใหม่

เด็กไทยดังไกลระดับโลก! กับผลงานสำรวจดวงจันทร์ยุคใหม่

ผลงานเด็กไทยกับอนาคตการสำรวจดวงจันทร์ยุคใหม่ที่ไปไกลถึงงาน International Astronomical Congress หรือ IAC 2021 ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรต


การกลับไปดวงจันทร์อีกครั้งในอนาคต จะไม่ใช่แค่การสำรวจดาวดวงนี้อีกต่อไป แต่เราอาจจะได้เห็นการสร้างเหมืองขุดเจาะ ไปจนถึงการสร้างอาณานิคมใหม่ ดังนั้น ก่อนการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ เราจำเป็นต้องศึกษาสภาพแวดล้อมบนดวงจันทร์อย่างถี่ถ้วนผ่านหินจากดวงจันทร์ 


ซึ่งที่ผ่านมามนุษย์สามารถนำหินดวงจันทร์กลับมาศึกษาได้เพียง 382 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งจำนวนเพียงเท่านี้ย่อมไม่เพียงพอต่อการวิจัย หรือเตรียมความพร้อมให้ภารกิจในอนาคตได้


จึงทำให้ ศรัณย์ สีหานาม และทีมงานลงพื้นที่บุกเบิกการทำหินดวงจันทร์ในไทยชุดแรก ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับหินชิ้นที่ นีล อาร์มสตรอง นำกลับโลกมากับภารกิจอพอลโล 11 จนได้รับการตีพิมพ์ และไปนำเสนอผลงานนี้ถึงที่นครดูไบในงาน International Astronomical Congress หรือ IAC 2021


โดย ศรัณย์ เปิดเผยถึงรายละเอียดผลงานที่น่าภาคภูมิใจนี้ว่า "สำหรับผลงานที่ได้ไปนำเสนอภายในงาน International Astronomical Congress ปี 2021 (IAC) เป็นงานเกี่ยวกับงานวิจัย หรือการศึกษาเกี่ยวกับการสร้างตัวหินดวงจันทร์จำลอง ซึ่งหินดวงจันทร์จำลองนี้ ได้มาจากการหา Resource ที่อยู่ภายในประเทศไทย แล้วนำมาทดสอบเพื่อให้ได้คุณสมบัติใกล้เคียงกับหินดวงจันทร์จริง ๆ ที่ไปเก็บมาจาก Mission อพอลโล หรือว่า Mission อื่นๆ ซึ่งนอกจากเทียบกับหินดวงจันทร์จริง ๆ แล้ว ก็ได้ไปเทียบกับหินดวงจันทร์จำลองของประเทศอื่นด้วย เช่น ของญี่ปุ่น อเมริกา


ซึ่งทีมเราได้จำลองหินดวงจันทร์ขึ้นมาจริง ๆ ด้วยวิธีการที่เรียกว่า Lunar Simulant หมายถึงการจำลองบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา


โดยเริ่มต้นจากการศึกษาพื้นที่ที่มีแหล่งทรัพยากรหินประเภทเดียวกับหินบนดวงจันทร์ หรือใกล้เคียงที่สุด รวมถึงศึกษางานวิจัยของต่างประเทศเกี่ยวกับชนิดของหินที่นำมาใช้


เมื่อทราบชนิดหินแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การค้นหาแหล่งพื้นที่ในประเทศไทยที่มีหินชนิดนี้อยู่ ซึ่งพบมากที่ จ.จันทบุรี และ จ.บุรีรัมย์  โดยทางทีมใช้วิธีการติดต่อกับเหมือง เพื่อให้ส่งตัวอย่างหินมาถึงเรา เมื่อได้ตัวอย่างหินมาแล้วจึงนำไปบด และทำให้ได้ขนาดที่พร้อมสำหรับการทดสอบ"


โดยในการทดสอบได้รับความร่วมมือจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการใช้ห้องตรวจทางห้องปฏิบัติการ


ศรัณย์ เล่าต่อถึงขั้นตอนการทำหินดวงจันทร์จำลองนี้ว่า "วิธีการจำลอง ก็คือ การสังเคราะห์หินจากบนโลกของเรา ให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับหินจากดวงจันทร์ ด้วยวิธีการทำ Biomining หรือใช้สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว มาสกัดแร่ให้ใกล้เคียงกับต้นแบบข้อมูลของอพอลโล 11


หลังจากนั้นทางทีมได้นำงานวิจัยที่ได้จากการทดสอบ ไปพรีเซนต์ที่การประชุมหนึ่งในประเทศไทย และได้รับโอกาสในการไปนำเสนอผลงานนี้สู่สายตาชาวโลก เพื่อให้ทราบถึงความก้าวหน้าในวงการอวกาศที่ประเทศไทยสามารถจำลองหินดวงจันทร์ได้จริง"


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหินจากโลกและดวงจันทร์จะมีลักษณะที่คล้ายกันจากภายนอก แต่องค์ประกอบภายในยังคงมีความแตกต่างกันอยู่



เด็กไทยดังไกลระดับโลก! กับผลงานสำรวจดวงจันทร์ยุคใหม่ ภาพหินดวงจันทร์จำลอง

นอกจาก การทำหินดวงจันทร์ในไทยชุดแรกแล้วยังมีอีกหนึ่งผลงานที่ได้นำเสนอสู่สายตาชาวโลกภายในงาน International Astronomical Congress หรือ IAC 2021 นั่นก็คือ งานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศในอาเซียน



เด็กไทยดังไกลระดับโลก! กับผลงานสำรวจดวงจันทร์ยุคใหม่

ภาพบรรยากาศภายในงาน International Astronomical Congress (IAC) 2021

 

โดยงานวิจัยนี้เป็นผลงานของ ชวัลวัฒน์ มาตรคำจันทร์ ประธานนักเรียนของ UNISEC Thailand สมาคมกระจายความรู้เกี่ยวกับวิศวกรรมอวกาศในไทย และเพื่อนๆ จากนานาประเทศทั่วโลกร่วมพูดคุยกันผ่านออนไลน์  เพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศในภูมิภาคอาเซียน โดยอาศัยโมเดลที่ประสบความสำเร็จจากยุโรปมาเป็นต้นแบบ 


ซึ่งชวัลวัฒน์ เปิดเผยรายละเอียดให้ฟังว่า "วิจัยตัวนี้จะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศในภูมิภาคอาเซียนโดยตรง โดยงานวิจัยนี้จะไปโฟกัสอยู่ที่สองเรื่อง คือ หนึ่งเราต้องการเข้าใจบริบทปัจจุบันของสถานการณ์ด้านอวกาศในอาเซียน ว่าเขาทำอะไรอยู่บ้าง มีใครที่ภาครัฐเป็นคน Invest ไหม มีฝั่งไหนที่เอกชนเริ่มดันแล้วไหม มีฝั่งไหนที่ภาคการศึกษาเป็นอย่างไร

เราใช้วิธีเช็กแต่ละประเทศในโซนอาเซียนว่ากำลังทำอะไรกันอยู่เกี่ยวกับตัวอวกาศ และหลังจากนั้น เราก็เอาข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ แล้วเราก็สร้างแม่แบบขึ้นมาตัวนึง เพื่อเหมือนเป็น Guideline คร่าว ๆ ให้กับประเทศในโซนอาเซียน ที่ถ้าเราต้องการพัฒนาอวกาศไปพร้อม ๆ กันในฐานะของภูมิภาค ไม่ใช่ในฐานะของแต่ละประเทศแล้วจะมีวิธีไหนได้บ้าง"


โดยภายในงานนี้จะได้เห็นความตื่นตัวของประเทศต่างๆ เกี่ยวกับการสำรวจอวกาศไม่น้อย เช่น อียิปต์ ตุรกี ซาอุดิอารเบีย หรือแอฟริกาใต้  ซึ่งชวัลวัฒน์เล่าถึงเหตุผลที่บรรดานานาประเทศให้ความสนใจในด้านอวกาศว่า 

"มีประเทศที่บางที่เราไม่เคยได้ยินชื่อมีมาด้วย เราก็แปลกใจที่ประเทศเขาเริ่มเล่นเรื่องอวกาศแล้ว ทั้งที่ประเทศเขาก็เรียกว่าเป็นประเทศเล็ก ๆ เราตอบไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเขาอยู่ตรงไหน แต่ว่าเขาก็มีความสนใจที่จะมาพัฒนาด้านอวกาศ เริ่มที่จะเข้าตีในโซนนี้มากขึ้น เพราะว่าเขาก็มองว่าเป็นโอกาสอย่างหนึ่ง 


ส่วนเรื่องเทรนด์อวกาศ ก็มันมีแนวโน้มให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นด้วย ถ้าในอดีตอวกาศส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของภาครัฐทั้งหมด แต่ว่ามีการจะกระจายงานออกมา ขณะที่ปัจจุบันมีเอกชนเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปีที่ค่อย ๆ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างตัว Amazon หรือตัว Virgin (Galactic) ก็จะมีฝั่งที่โฟกัสไปด้าน Space Tourism ซึ่งมันก็เป็นการแตกแขนงออกมา เอกชนรายใหญ่กำลังเริ่มค่อย ๆ มองว่าอวกาศกำลังจะเป็นโอกาสอันใหม่ เขาก็จะเริ่มค่อย ๆ เทกันเข้ามา


ส่วนเอกชนเล็ก ๆ ก็จะเป็นพวก Startup ที่เราไปเจอก็จะเป็นทำเกี่ยวกับพวก Space Data ทำเรื่องของ Space Environment บน ISS อย่างนี้ แล้วก็จะมีพวกที่ทำเป็นวัสดุสำหรับยานอวกาศไปเลยก็มี ถือว่าค่อนข้างน่าสนใจ"


และนี่คือเรื่องราวของเยาวชนทั้งสองคน ที่สร้างความภาคภูมิใจให้คนไทย ด้วยการนำผลงานไปแสดงในเวทีระดับโลก  และทำให้เราได้เห็นความสำคัญด้านการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศที่ไม่ใช่เพียงเรื่องไกลตัวอีกต่อไป


 ที่มาของรูป https://www.facebook.com/NARITpage/

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ