มองอย่างเจี๊ยบ 2021 : 10 ที่สุดขนไก่โลกประจำปีนี้
มองอย่างเจี๊ยบ ฉบับที่ 18 พาไปดู 10 ที่สุดขนไก่โลกปีนี้ โดย อ.เจี๊ยบ ธนัช อัศวนภากาศ ที่มีทั้ง ยิ่งใหญ่ , น่าผิดหวัง , ชอกช้ำ รวมถึงอีกหลายประเด็น ซึ่งจะตรงใจกับแฟนๆหรือไม่ ไปติดตามพร้อมกันได้เลย
สวัสดีครับ! มองอย่างเจี๊ยบ คอลัมน์สำหรับคนรักแบดมินตัน โดย อ.เจี๊ยบ ธนัช อัศวนภากาศ รองเลขาธิการสมาคมฯ และผู้บรรยายแบดมินตันมือหนึ่งของไทย กลับมาพบแฟนๆส่งท้ายปีในฉบับที่ 18 หลังจากที่หายไประยะหนึ่ง เนื่องด้วยภารกิจของตัวผู้สัมภาษณ์และตัวอาจารย์เองค่อนข้างรัดตัวนะครับ
ก็ถือว่าผ่านพ้นไปเรียบร้อยในฤดูกาล 2021 ด้วยความยากลำบากด้วยสภานการณ์โควิด-19 ที่ยังระบาดในบางประเทศ แต่ก็ถือว่าผ่านพ้นไปได้ ปีนี้เราได้ยิ้มหน้าชื่นตาบานกันจริงๆกับผลงานของนักกีฬาไทย ที่ทำได้ดีหลายต่อหลายคน โดยเฉพาะ บาส กับ ปอป้อ ที่กวาดแชมป์เป็นว่าเล่นจนขึ้นมือ1 โลกคู่ผสมได้ อาจจะเสียดายในรายการใหญ่อย่างโอลิมปิกที่นักกีฬาของเราไม่มีเหรียญ แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่า โอลิมปิก 2024 เรามีแน่นอนครับ
สิ้นปีแบบนี้เราก็จะมาให้ ท่านอ.เจี๊ยบ จัด 10 ที่สุดขนไก่โลกแห่งปีกันอีกเช่นเคย หลังปีที่แล้ว 2020 เราเว้นกันไปหนึ่งไปจากโปรแกรมแข่งขันที่แทบไม่มี ซึ่งจะตรงใจกับใครหลายคนหรือเปล่า เดี๋ยวเรามาติดตามไปพร้อมกันครับ
Q : อันดับแรก อยากให้ อ.เจี๊ยบ พูดถึงภาพรวมของการแข่งขันแบดมินตันปีนี้ มีความยากลำบากขนาดไหน แล้วทาง BWF ถือว่าทำได้ดีขนาดไหนกับฤดูกาลที่เพิ่งจบลงไป ?อ.เจี๊ยบ : การแข่งขันแบดมินตันในฤดูกาลนี้ ทาง BWF ก็พยายามทำให้ออกมาดีที่สุดภายใต้สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 การที่มีโปรแกรมแข่งขันแน่นแบบนี้ ทำให้แฟนๆหายคิดถึงแบดมินตันก็จริง แต่ก็จะอดเป็นห่วงสภาพร่างกายของนักกีฬาไม่ได้ เริ่มต้นตั้งแต่สามรายการใหญ่ที่เมืองไทยเมื่อต้นปี นักกีฬายังไหวกันอยู่เพราะเป็นช่วงที่ร้างสนามกันมา แต่พอมาถึงปลายฤดูกาลที่มีรายการติดกันเยอะมาก ส่งผลให้ร่างกายหลายคนทรุดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้แบดมินตันขาดความสนุกไปเล็กน้อย จากความกรอบและอาการบาดเจ็บ ที่ต้องเล่น 8 รายการในสามเดือน โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้ารอบลึกๆ ส่วนใหญ่จะถอนตัว อย่างไรก็ตามนะครับ ด้วยสถานการณ์แบบนี้ก็คงต้องบอกว่าทาง BWF ก็ทำหน้าที่ได้ดีที่สุดแล้วจริงๆ ด้วยความที่ไม่มีทางเลือก แต่ในอนาคต ผมอยากจะเสริมสักเล็กน้อย คงจะต้องมีการปรับปรุงรูปแบบบางอย่าง เช่น อาจจะมีการอนุญาตให้นักกีฬาที่ไม่ได้เล่นรายการหนึ่งและสอง ลงแข่งในรายการที่สามได้มั้ย ในส่วนของบับเบิ้ลนะครับ , อาจจะมีการพิจารณาจับสลากสายแข่งขันรายการใหญ่ๆก่อนแข่งสักสามวัน (หรือในวันประชุมผู้จัดการทีม) เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่านักกีฬาจะไม่ถอนตัว หรือจะเป็น Re-Draw ใหม่ไปเลย เพื่อไม่ให้มีสายแข่ง ขันที่เหลื่อมล้ำเกินไปจากการถอนตัวของเหล่ามือวาง เราเห็นชัดๆเลยในชิงแชมป์โลก ประเภทชายเดี่ยว แต่โดยรวมก็ถือว่าทำได้ดีครับในภาพรวม แม้จะเลื่อนไปหลายรายการ แต่ก็ยังเอาจนจบฤดูกาลได้ครับ รวมทั้งนักกีฬาไทยที่ไปลุยยุโรปกันมาเป็นเดือน กลับมาตรวจโควิด ผลเป็นลบหมด ตรงนี้ต้องชื่นชมครับ
สำหรับ 10 ที่สุดขนไก่โลก2021 มีดังต่อไปนี้ยิ่งใหญ่ที่สุด (เดชาพล พัววรานุเคราะห์ & ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย)ผมเชื่อว่าคนไทยและแฟนแบดมินตันทั่วโลกคิดเหมือนผมแน่นอน ยังไงก็ต้องเป็น "บาส" เดชาพล พัววรานุเคราะห์ และ "ปอป้อ" ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ในประเภทคู่ผสมแน่นอน ได้แชมป์ 8 จากการเข้าชิง 9 รายการ ถือว่าสุดยอดมากๆ นอกจากนี้ยังสามารถขึ้นครองมือ 1 ของโลก และสุดท้ายคือการคว้าแชมป์โลกครับ นี่คือสามเหตุผลหลักๆ ทำให้ตอนนี้ก็เหลือแค่ โอลิมปิก ที่ต้องเอาให้ได้อีกสามปีข้างหน้าครับ
เหนือความคาดหมายที่สุด (เกรเซีย โพลี่ & อพริลานี่ ราฮายู)
ผมยกให้ โพลี่ และ ราฮายู หญิงคู่สุดสตรองแห่งอินโดนีเซีย ด้วยความที่พวกเธอคว้าแชมป์โอลิมปิกได้แบบเหลือเชื่อมาก จากการที่มีตัวเต็งทั้ง จีน , ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้อยู่เต็มไปหมด เป็นหญิงคู่หญิงคู่แรกของอินโดนีเซียอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นคือตลอดทั้งปีทั้งสองคนแทบจะไม่ได้แชมป์ในรายการเก็บคะแนนสะสมเลย โผล่มาเป็นแชมป์โอลิมปิกซะอย่างนั้น ต้องยกให้จริงๆครับ เหนือความคาดหมายที่สุด
พัฒนาฝีมือยอดเยี่ยมที่สุด (โลว์ เคียนยิว)อันนี้ต้องขออภัยแฟนๆเล็กน้อย อาจจะไม่ตรงกับ BWF นะครับ เพราะทาง BWF ให้ วิว กุลวุฒิ แต่ส่วนตัวผมแล้ว หลังจากที่มาคว้าแชมป์โลกได้สำเร็จ ยิ่งไปกว่านั้นยังปราบ เคนโตะ โมโมตะ ในรายการก่อนหน้านั้น จนกระทั่งแชมป์โลก ก็น็อค อันเดอร์ส แอนทอนเซ่น , วิคเตอร์ อเซลเซ่น ตกรอบแบบสุดเทพ , ชนะ คิดัมบี้ สีคาน ในรอบชิงฯอีกด้วย สายการแข่งขันค่อนข้างจะหนักพอสมควร ผมเคยตั้งฉายาให้ว่าเป็น "สุดหล่อสามเกมจอด" แต่ปัจจุบันต้องเปลี่ยนแล้วจริงๆ สามเกมยังแกร่งเหลือเชื่อ ต้องเป็น "สุดหล่อร่างทองคำ" เลยครับ กับแชมป์ชายเดี่ยวโลกคนแรกของสิงคโปร์คนนี้
ชอกช้ำที่สุด (เคนโตะ โมโมตะ และ แคโรไลน่า มาริน)จริงๆอันดับนี้นะครับ ผมคงต้องขออภัยจริงๆ เข้าใจว่าที่สุดมันคือหนึ่งเดียว แต่มันไม่ได้จริงๆ ขอแบ่งเป็นชายกับหญิงครับ คนแรกต้องเสนอ เคนโตะ โมโมตะ กับปีที่ผิดหวังมากๆ ไล่กันตั้งแต่ต้นปี ที่สนามบินนาริตะ กำลังจะขึ้นเครื่องมาไทยอยู่แล้ว ตรวจเจอโควิดฯ ไม่ได้มาซะงั้น สามรายการแรกไม่ได้เล่น ต่อมาไปตกรอบควอเตอร์ฯที่ ออลอิงแลนด์ฯ แล้วไปแข่งโอลิมปิกในฐานะเต็งหามชายเดี่ยว เล่นในบ้านตัวเองแท้ๆ ตกรอบแรกมันไปซะอย่างนั้น ทำทัพนักกีฬาขนไก่ญี่ปุ่นเพี้ยนไปทั้งทีม เพราะแม่ทัพตายคนแรก แล้วก็ต้องมาถอนตัวในศึกชิงแชมป์โลกอีกจากอาการบาดเจ็บ ชอกช้ำจริงๆ ส่วนอีกคน ครั้งนี้ไม่ลืมและไม่พลาดแล้ว กับ แคโรไลน่า มาริน สาวสเปนคนนี้ กับการที่ต้นปี 2019 เจ็บหนักต้องพักไปนาน รักษาตัวเกือบปี กลับมาท้ารบทำผลงาน จนกระทั่งครองความยิ่งใหญ่ คว้าแชมป์บ้านเราสองรายการ เก็บคะแนนจนไปโอลิมปิก แต่ท้ายที่สุด ก่อนโอลิมปิกจะเริ่ม ดันเจ็บจนต้องถอนตัว แต่เธอก็ยังหวังจะได้เล่นชิงแชมป์โลกที่สเปนบ้านเกิดของเธอ เธอรักษาอาการ แต่มันก็หายไม่ทัน ซึ่งที่มันชอกช้ำเพราะว่า ยิมเนเซียม ที่ใช้แข่งในเมืองอูเอลบา ถูกตั้งชื่อว่า "แคโรไลน่า มาริน สปอร์ต" เพื่อเป็นการเชิดชูเธอ ดังนั้นเธอหมดสิทธิ์เล่นในบ้าน เล่นในยิมที่เป็นชื่อตัวเอง ช้ำหนักพอกัน ตัดสินไม่ได้จริงๆครับ ^^
น่าผิดหวังที่สุด (เควิน ซานจาย่า ซูคามูลโจ้ กับ มาร์คัส เฟอร์นัลดี้ กีเดี้ยน)
หลายท่านคงจำได้ที่ผมเคยบอกว่า ทำไม เควิน กับ กีเดี้ยน ถึงไม่ติดโผนักแบดคู่ที่ดีที่สุดของโลก ที่ผมเคยจัดไป เพราะยังต้องรอแชมป์ใหญ่ แล้วมันก็ยังไม่ได้จริงๆ ที่บอกว่าน่าผิดหวังที่สุดเพราะ การที่ไม่มีโอกาสแม้แต่จะลุ้นเหรียญทองแดงโอลิมปิกเกมส์ ทั้งที่เป็นคู่เต็งหนึ่ง แล้วก็ไม่ถูกจัดให้เป็นคู่หลักของอินโดฯ ทั้งใน สุธรมานฯ กับ โธมัส คัพ อาจจะกลับมาตีคืนได้แชมป์ ไฮโลฯ กับ อินโดนีเซีย มาสเตอร์ส ก็จริง แต่ด้วยดีกรีและในสภาวะที่ชาวบ้านเค้าถอนตัวกันเยอะแยะขนาดนี้ ถือว่าน่าผิดหวังครับ จนสุดท้ายอินโดนีเซียถอนตัวทั้งทีม ทั้งคู่ก็เลยไม่ได้ไปชิงแชมป์โลกอีกด้วย คู่นี้ก็เลยยังไม่มีเหรียญโอลิมปิก และเหรียญทองชิงแชมป์โลกต่อไป หนักไปกว่านั้นคือปีนี้ฟอร์มการเล่นของคู่นี้ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ไม่น่ากลัวเหมือนหลายปีที่ผ่านมา พร้อมจะแพ้ได้ทุกคู่เช่นกัน
แจ้งเกิดที่สุด (ทาคุโระ โฮกิ กับ ยูโกะ โคบายาชิ)
คู่นี้โดนสองคู่ญี่ปุ่นอย่าง ฮิโรยูกิ เอนโดะ กับ ยูตะ วาตะนาเบะ และ เทเคชิ คามูระ กับ เคอิโกะ โซโนดะ บดบังรัศมีมานาน แต่จากการที่ เอนโดะ เลิก , คามูระ กับ โซโนดะ ประกาศรีไทร์ ทำให้ โฮกิ กับ โคบายาชิ ต้องรับผืดชอบในฐานะคู่มือหนึ่งชายคู่ญี่ปุ่น และไม่ทำให้แฟนๆผิดหวัง สามารถกวาดถึง 4 แชมป์เวิลด์ทัวร์ใหญ่ๆได้หมดเลย รวมถึงแชมป์โลกอีกด้วย ถือว่าปีนี้แจ้งเกิดเต็มตัว เป็นอีกคู่ที่มีโอกาสจะยึดบัลลังก์ชายคู่ได้ยาวๆเหมือนกัน
หายหน้าหายตาจนแฟนๆลืมที่สุด (ทัพนักกีฬาจีน)
อันนี้คงให้เป็นบุคคลไม่ได้ คงต้องให้เป็นทัพนักกีฬาแบดมินตันจีนทั้งชุด โดยเฉพาะ ลี จินฮุย กับ หลิว ยู่เฉิน , เจิ้ง ซีเว่ย กับ หวง ย่าเฉียง (เล่นรายการเดียวแล้วตกรอบไว) , เฉิน หลง , ฉี่ ยู่ฉี , เฉิน ยุ่เฟย ฯลฯ เห็นกันหลักๆแค่โอลิมปิก ซึ่งเหตุผลที่หลักๆที่หายไป ก็เป็นเพราะกลัวไวรัสโควิดฯ รัฐบาลจีนก็ไม่อนุญาตให้ออกนอกประเทศนานมาก รวมถึงอาการบาดเจ็บสำหรับบางคนอีกด้วย ทำให้เป็นกลุ่มที่หายไปจนแฟนๆคิดถึงมากๆสองปีติดต่อกันครับ
แมตช์สุดมันส์ครบรสที่สุด (เคนโตะ โมโมตะ พบ วิคเตอร์ อเซลเซ่น , ไต้ จื่ออิง พบ แคโรไลน่า มาริน)
ผมยกมาสองคู่แล้วกัน ซึ่งผมเองก็บรรยายอยู่ด้วย นัดแรกคือรอบชิงชนะเลิศ เดนมาร์ก โอเพ่น เป็นชายเดี่ยวรอบชิงที่เล่นกัน 97 นาที เอาซะ โมโมตะ ร่างแหลกไปหมด ด้วยความที่กรำศึกมาตั้งแต่สุธีรมานคัพ และโธมัสคัพ เกมสนุกและดราม่ามากๆทุกเกม พลิกกันไปกันมา จนสุดท้าย โมโมตะ หมดแรงแพ้ วิคเตอร์ ไปแบบสุดมันส์ จำไม่ได้จริงๆครับว่าพูดคำว่า โอ้โห ไปกี่ครั้งในนัดนั้น ส่วนอีกหนึ่งเกม ผมยกให้การพบกันในรอบชิงชนะเลิศ เวิลด์ทัวร์ไฟนอลส์ 2020 หญิงเดี่ยว ระหว่าง ไต้ จื่ออิง กับ มาริน สนุกมากจริงๆ เล่นกันไป 67 นาที เชื่อว่าแฟนๆคงจำกันได้ เกมเต็มไปด้วยความตื่นเต้น เบียดกันไปจนถึงเกมที่สาม แล้ว ไต้ จื่ออิง พลิกปาดมารินในช่วงท้าย เข้าป้ายคว้าแชมป์หลังแพ้ในรอบชิงมาสองสัปดาห์ติด เป็นสองแมตช์ที่ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับหัวใจมีความอันตรายมากครับหากรับชม
สวย-หล่อที่สุด (ชิฮารุ ชิดะ กับ โลว์ เคียนยิว)
ครั้งที่แล้วเมื่อปี 2019 ผมเลือกที่สวยๆอย่าง มิเชล ลี แต่ครั้งนี้ขอเอาใจวัยรุ่นที่ชอบแบบน่ารักๆคิขุบ้างแล้วกันครับ ฝ่ายหญิงผมให้ ชิฮารุ ชิดะ พาร์ทเนอร์ของ นามิ มัตสึยามะ ด้วยความที่เธอเป็นสาวหน้ายิ้มตลอดเวลา น่ารักมีสเน่ห์มากๆ ผู้ชมและกองเชียร์พร้อมจะให้อภัยในช่วงที่เธอผิดพลาดเพราะเธอยิ้มน่ารักตลอดจริงๆ ส่วนฝ่ายชายยังไงก็ต้องให้ โลว์ เคียนยิว อีกหนึ่งอัน ด้วยความที่หล่อ เทห์ มากๆ โดยเฉพาะชุดแข่งขันในชิงแชมป์โลกที่เป็นลายสไปเดอร์แมน แล้วลงสนามแข่งขัน ลีลา ความเร็ว เอาชนะใจสาวๆได้ทั้งสนาม
เซอร์ไพรส์ที่สุด (บาสเปิดตัวเป็นแฟนกับ เอิร์ธ พุธิตา)
ก็ต้องเป็นการเปิดตัวคู่ขวัญแบดมินตันไทย กับวลีเด็ดที่ว่า two hearts that beat as one เซอร์ไพรส์มากๆ และเป็นภาพที่น่ารักมากๆที่ทั้งสองคนไปเที่ยวแล้วถ่ายภาพบนรถจิ๊ป อันนี้ผมสารภาพว่าก็ไม่รู้มาก่อนเหมือนกันจริงๆครับ จึงขอยกให้เป็นเซอร์ไพรส์ที่สุดส่งท้ายปีไปครับผม
อย่างไรก็ตามอยากจะขอเพิ่มเติมสักเล็กน้อยนะครับกับ "ทรหดที่สุด" คงต้องยกให้ทีมบรรยายแบดมินตันของทรูสปอร์ต ทั้งตัวผมเอง , พี่ดอน มุดตางาม , สุจิตรา เอกมงคลไพศาล และ ภูกิจ นาทอภินันท์ ที่ร่วมบรรยายกันตั้งแต่ สุธีรมาน - โธมัส อูเบอร์ คัพ ยาวมาจนรายการเวิลด์ทัวร์ และชิงแชมป์โลก เรียกได้ว่าเที่ยงวันถึงเที่ยงคืน นอนน้อยแต่นอนนะ เอากันจนจุใจจริงๆครับ สนุกมากแต่ร่างแหลกกันไปเรียบร้อย พวกเราทั้งสี่คนกราบขอบคุณท่านสมาชิกและแฟนๆทุกคนด้วยใจจริงครับ
สุดท้ายตัวผมเองในฐานะสมาคมกีฬาแบดมินตันฯ ก็อยากจะขออำนวยอวยพรให้แฟนๆแบดมินตันทุกท่านมีความสุขในโอกาสขึ้นปีใหม่ไทย ให้ชีวิตอย่างไม่ประมาท รักษาสุขภาพ แล้วกลับมาสู้กันต่อในปี 2022 นะครับ ปีนี้อะไรที่มันไม่ดีให้มันหยุดไว้ตรงนี้ ยังมีสิ่งดีๆรออยู่ในปีหน้าแน่นอนครับ ขอบคุณสำหรับกำลังใจที่ส่งให้นักกีฬาไทยตลอดทั้งปี สวัสดีปีใหม่ครับผม
เรียบเรียงโดย : นิก ธีร์ธวัช