อ.อ๊อด เฉลยแล้ว "กระดูกบาร์โค้ด" ใช่ชิ้นส่วนมนุษย์จริงหรือไม่?
"อาจารย์อ๊อด" เฉลยแล้ว "กระดูกบาร์โค้ด" มีองค์ประกอบของซิลิกอนและออกซิเจนเป็นหลัก ซึ่งไม่ใช่องค์ประกอบหลักของกระดูกมนุษย์
วันนี้( 13 ส.ค.64) จากกรณีชายคนหนึ่งประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ครอบครัวได้ประกอบพิธีฌาปนกิจ หลังนำอัฐิออกมาจากเตาเจอชิ้นส่วนหนึ่งในวัตถุชิ้นนั้นมีบาร์โค้ด เป็นตัวเลขวันเกิดและวันตายของผู้เสียชีวิต ทางครอบครัวเชื่อว่าน่าจะเป็นกระดูกส่วนใดส่วนหนึ่งของคนเสียชีวิต
ล่าสุดรองศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์และนักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ อาจารย์อ๊อด ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊ก Weerachai Phutdhawong ระบุว่า
"เฉลยแล้วนะครับกระดูกบาร์โค้ดไม่ใช่กระดูกแต่อย่างไร อาจารย์อ๊อดต้องขอบคุณบริษัทโทรแอคซ์ประเทศไทยที่อนุญาตให้ใช้เครื่อง กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดและวิเคราะห์องค์ประกอบของธาตุ (SEM/EDX)
กระดูกบาร์โค้ดมีองค์ประกอบของซิลิกอนและออกซิเจนเป็นหลัก ซึ่งไม่ใช่องค์ประกอบหลักของกระดูกมนุษย์ และยืนยันด้วยเครื่องมือนี้ว่าไม่ใช่กระดูกจริงๆครับ เราได้ทดสอบเทียบกับตัวกระดูกจริงอีกชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นกระดูกของผู้วายชนม์ที่อยู่ในเตาเผาศพเดียวกัน พบว่ากระดูกอีกชิ้นหนึ่งนั้นมีองค์ประกอบหลักของแคลเซี่ยมและออกซิเจนเป็นหลัก รวมถึงฟอสฟอรัสและมีเกล้อโซเดียมซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักที่อยู่ในกระดูกจริงๆ
อนุญาตให้ใช้ภาพและคลิปได้ทุกอย่างครับ"