TNN เปิดแนวทางเตรียมความพร้อมป้องกัน แก้ปัญหาอุทกภัยตลอดช่วงฤดูฝน 2567

TNN

สังคม

เปิดแนวทางเตรียมความพร้อมป้องกัน แก้ปัญหาอุทกภัยตลอดช่วงฤดูฝน 2567

เปิดแนวทางเตรียมความพร้อมป้องกัน แก้ปัญหาอุทกภัยตลอดช่วงฤดูฝน 2567

รัฐบาลเปิดแนวทางการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยตลอดช่วงฤดูฝน ปี 2567 เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

วันนี้ (5 กรกฎาคม 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้ติดตามและรายงานความคืบหน้าการเกิดสถานการณ์สาธารณภัยที่เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่

 

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้มีข้อสั่งการ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 โดยเพื่อให้การเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยตลอดช่วงฤดูฝน ปี 2567 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและแผนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้สอดคล้องกับมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

 

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดดำเนินการ ดังนี้

 

1.การเตรียมความพร้อม ทั้งการติดตามสภาพอากาศ การจัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัย การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงสถานที่ใช้กักเก็บ/กั้นน้ำ การระบายน้ำและการเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำ และการแจ้งเตือนภัย 

 

2.การเผชิญเหตุ เมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ให้ดำเนินการตามแนวทางดังนี้

-จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

-เมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ให้มอบหมายฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร และประชาชนจิตอาสา เฝ้าระวังพื้นที่ชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สถานที่สำคัญต่างๆ

-จัดชุดปฏิบัติการเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย โดยเฉพาะด้านการดำรงชีพตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง

-ให้รายงานสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางตามช่องทางที่กำหนด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมินสถานการณ์ และเสนอความเห็นต่อผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติในการตัดสินใจ สั่งการในเชิงนโยบายต่อไป

 

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานครดำเนินการ ดังนี้

 

1.การเตรียมความพร้อม

-เฝ้าระวังติดตามข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำท่วมที่อาจส่งผลให้เกิดอุทกภัยในช่วงฤดูฝน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนเผชิญเหตุ ตลอดจนการประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการสื่อสารแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น 

-ตรวจสอบพื้นที่เขตชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และเส้นทางคมนาคมที่มักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังเมื่อฝนตกหนัก พร้อมทั้งเร่งเปิดทางน้ำโดยการดูดเลน ขุดลอกท่อระบายน้ำ ทำความสะอาดร่องน้ำเพื่อเตรียมรองรับน้ำฝน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ

-พื้นที่คู คลอง แหล่งน้ำต่างๆ ที่เป็นพื้นที่รองรับน้ำและเส้นทางระบายน้ำลงสู่แม่น้ำสายต่างๆ ให้เร่งกำจัดวัชพืช ขยะ สิ่งกีดขวางทางน้ำอื่นๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำให้สามารถรองรับน้ำฝน และน้ำจากท่อระบายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

-เตรียมความพร้อมบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อใช้ในการเผชิญเหตุให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เสี่ยงในแต่ละเขตพื้นที่ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องจักรกลสาธารณภัยไว้ในพื้นที่เสี่ยงเป็นการล่วงหน้า โดยให้ประสานการปฏิบัติการร่วมกับจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ

-เตรียมแผนสำรองในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหากรณีฉุกเฉินอื่นๆ

 

2.การเผชิญเหตุ

-เมื่อเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้จุดชุดปฏิบัติการเร่งเข้าตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงที่มักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณผิวการจราจร หรือตามเขตชุมชน พร้อมทั้งทำการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลต่อการกีดขวางการระบายน้ำทันที

-หากเกิดกรณีน้ำท่วมขังบนผิวการจราจร ให้บูรณาการการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกการจราจรโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ตลอดจนให้ความช่วยเหลือผู้ขับขี่ที่อาจประสบปัญหาเครื่องยนต์ดับบนผิวจราจรที่มีน้ำท่วมขัง

-ในช่วงของการเกิดฝนฟ้าคะนอง และฝนตกหนักให้กำกับเจ้าหน้าที่ประจำจุดสูบน้ำดำเนินการตามแผนอย่างต่อเนื่อง หากเกิดปัญหาระหว่างการปฏิบัติงานให้เร่งทำการแก้ไขตามแผนสำรอง และประสานการปฏิบัติร่วมกับชุดปฏิบัติการของการไฟฟ้านครหลวงอย่างใกล้ชิด

-ให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้กับประชาชน

 

มท. ได้เสนอเรื่องดังกล่าวเพื่อให้คณะรัฐมนตรีทราบ ซึ่งเรื่องนี้เข้าข่ายที่ต้องนำเสนอ ครม. ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4(1) เรื่องที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี หรือให้ต้องเสนอ ครม. และ (11) เรื่องที่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินนอกเหนือจากที่ได้รับอนุมัติไว้แล้ว ตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม



ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ