วันลอยกระทง 2566 ตรงกับวันอะไร เปิดประวัติความเป็นมา-วันสำคัญเดือนพฤศจิกายน ที่นี่
ลอยกระทง 2566 ตรงกับวันที่เท่าไร เปิดประวัติความเป็นมา และ ประเพณีในแต่ละท้องถิ่น เช็กวันสำคัญเดือน พฤศจิกายนได้ที่นี่
วันลอยกระทง หรือ วันลอยกระทงประจำปี 2566 ตรงกับวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา ซึ่งเป็นเทวดาในคติฮินดู แต่เทศกาลนี้มีร่องรอยหลักฐานย้อนไปถึงจีนและอินเดียโบราณ
ประวัติวันลอยกระทง
ประเพณีลอยกระทง มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การลอยกระทงเป็นพิธีกรรมร่วมกันของผู้คนในชุมชน ทั้งสุวรรณภูมิหรือภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ เพื่อขอขมาต่อธรรมชาติอันมีดินและน้ำที่หล่อเลี้ยง ตลอดจนพืชและสัตว์ที่เกื้อกูลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์มนุษย์จึงมีชีวิตเจริญเติบโตขึ้นได้ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าลอยกระทงเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไร แต่พิธีกรรมเกี่ยวกับ "ผี” ผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติมีอยู่กับผู้คนในชุมชนสุวรรณภูมิไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้วตั้งแต่ก่อนรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากอินเดีย
มนุษย์อุษาคเนย์รู้ว่าที่มีชีวิตอยู่ได้เพราะน้ำและดินเป็นสำคัญ โดยมีน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพราะเป็นบ่อเกิดของสิ่งมีชีวิต เมื่อคนเรามีชีวิตอยู่รอดได้ ปีหนึ่ง จึงทำพิธีขอขมาที่ได้ล่วงล้ำก้ำเกินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (เช่น เหยียบย่ำ ขับถ่าย ทิ้งของเสีย สิ่งปฏิกูล และอาจทำสิ่งอื่นที่ไม่เหมาะสม) โดยใช้วัสดุที่ลอยน้ำได้ใส่เครื่องเซ่นให้ลอยไปกับน้ำ เช่น ต้นกล้วย กระบอกไม้ไผ่ ฯลฯ ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่คนเรารู้จักจากประสบการณ์ธรรมชาติ คือ สิ้นฤดูกาลเก่า เดือน ๑๒ ขึ้นฤดูกาลใหม่ เดือนอ้าย ตามจันทรคติ ที่มีดวงจันทร์เป็นศูนย์กลางเพราะเป็นสิ่งที่มีอำนาจทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลง
สำหรับในประเทศไทยการลอยกระทงเป็นประเพณีที่ชาวไทยสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันถึง แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด เพราะในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยและเอกสารร่วมสมัยก็ไม่มีปรากฏชื่อ"ลอยกระทง” แม้แต่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงก็มีแต่ชื่อ "เผาเทียนเล่นไฟ” ที่มีความหมายอย่างกว้างๆว่าการทำบุญไหว้พระส่วนราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ซึ่งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำที่มีน้ำท่วมหลายเดือนจึงเป็นศูนย์กลางสำคัญในการสร้างสรรค์ประเพณีเกี่ยวกับน้ำขึ้นมาให้เป็น "ประเพณีหลวง” ของราชอาณาจักร ดังมีหลักฐานตราไว้ในกฎมณเทียรบาล ว่าพระเจ้าแผ่นดินต้องเสด็จไปประกอบพิธีทางน้ำ เพื่อความมั่งคงและมั่งคั่งทางกสิกรรมของราษฎรและขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อประกอบพระราชพิธีโดยเฉพาะ ครั้นเมื่อถึงสมัยรัชการที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
บ้านเมืองเริ่มมั่นคง การศึกสงครามลดลงเกือบหมด การค้าก็มั่งคั่งขึ้น โดยเฉพาะกับจีน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฟื้นฟู ประเพณีพิธีกรรมสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร และด้วยความจำเป็นในด้านอื่นๆอีกจึงได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ ขึ้นมา โดยสมมุติให้ฉากของเรื่องเกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ซึ่งตำราดังกล่าวได้พูดถึงนางนพมาศ ว่า เป็นสนมเอกของพระร่วง ที่ได้คิดประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงเกิด กระทง ทำด้วยใบตองแทนวัสดุอื่นๆแล้วนิยมใช้ลอยกระทงมาแต่คราวนั้น
ประเพณีลอยกระทงที่ทำด้วยใบตองในระยะแรก จำกัดอยู่แต่ในราชสำนักกรุงเทพฯ เท่านั้นซึ่งมีรายละเอียดพรรณนาอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๓ว่ากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ราชธิดาองค์โปรดได้แต่งกระทงเล่นทุกปีเมื่อนานเข้าก็เริ่มแพร่หลายสู่ราษฎรในกรุงเทพแล้วขยายไปยังหัวเมืองใกล้เคียงในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและกว่าจะเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วประเทศก็ประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๐ หรือก่อนหน้านั้นไม่นานนัก
ประเพณีลอยกระทง นิยมทำกันในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง เพราะเป็นช่วงที่น้ำขึ้นสูงสุด โดยมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น อาทิ เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าในวันเสด็จกลับจากเทวโลกเมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพุทธมารดา หรือเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ที่ประทับรอยพระบาทประดิษฐานไว้บนหาดทรายที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ในประเทศอินเดีย เพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า เพื่อลอยเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์ และเพื่อสำนักบุญคุณของน้ำที่ได้นำมากินมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันรวมทั้ง ขอขมาลาโทษในการทำให้แหล่งน้ำนั้นๆไม่สะอาด
วัสดุที่นำมาใช้เพื่อลอยเป็นกระทงมีหลากหลายลักษณะ แต่ส่วนใหญ่ที่เราพบเห็นกันบ่อยๆในบ้านเราก็จะเป็นกระทงที่ทำจากใบตอง ปักด้วยเทียน เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยแสงสว่าง เพราะหาง่ายและก็ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย ภายในกระทงจะตั้งพุ่มทองน้อยธูป ๑ ดอก และเทียน ๑ ดอก กระทงแบบพราหมณ์ มีวิธีการทำแบบเดียวกับกระทงแบบพุทธ แต่ต่างกันตรงที่ไม่มีเครื่องทองน้อย บางท้องถิ่นจะมีการใส่หมากพลู เงินเหรียญ หรือ ตัดเส้นผม ตัดเล็บมือเล็บเท้าในกระทง เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ในตัว จะเห็นได้ว่าประเพณีลอยกระทงนั้น สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยเรามีวัฒนธรรมที่ผูกพันกับสายน้ำอย่างมาก เพราะน้ำถือเป็นสิ่งสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ ทั้งที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคอยู่เป็นประจำทุกวัน
ประเพณีในแต่ละท้องถิ่น
ภาคเหนือ
นิยมทำโคมลอย เรียกว่า "ลอยโคม" หรือ "ว่าวลม" หรือ "ว่าวไฟ" ทำจากผ้าบาง ๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศอย่างบัลลูนประเพณีของชาวเหนือนี้เรียกว่า ยี่เป็ง หมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่ (ซึ่งนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองในแบบไทย) หรือโคมลอยบนน้ำรูปทรงต่าง ๆ
-จังหวัดเชียงใหม่ มีประเพณี"ยี่เป็ง"เชียงใหม่ ในทุก ๆ ปีจะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา และมีการปล่อยโคมลอยขึ้นเต็มท้องฟ้า
-จังหวัดลำปาง มีประเพณี"ล่องสะเปา"(สะเปาหมายถึงกระทง) ซึ่งจะมีการประกวดอยู่สองวันด้วยกัน ได้แก่วันแรก"สะเปาน้ำ"จัดขึ้นในแม่น้ำวังและวันที่สองจะมี"สะเปาบก" ซึ่งการประกวดในที่นี้ จะมีตั้งแต่ระดับกลุ่มหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมไปถึงหน่วยการของภาครัฐ แต่ละขบวนจะมีการแสดงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฟ้อนรำ ดนตรีพื้นเมือง
ความสวยงามของขบวน รวมไปถึงประกวดนางนพมาส ทั้งนี้ ชาวบ้านคนเมืองลำปาง ค่อนข้างให้ความสำคัญแก่ประเพณีล่องสะเปา เนื่องจากเป็นวันที่ทุกคนจะร่วมสนุกสนานครื้นเคร้ง พบปะเพื่อนฝูงที่กลับมาจากการทำงานในต่างจังหวัด และที่สำคัญเป็นเทศกาลกลางแจ้งที่จัดขึ้นท่ามกลางอากาศที่เย็นสบายในทุก ๆ ปี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในอดีตมีการเรียกประเพณีลอยกระทงในภาคอีสานว่า สิบสองเพ็ง หมายถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองซึ่งจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป เช่น จังหวัดร้อยเอ็ด ถือเป็นตัวแทนจัดงานลอยกระทงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีชื่องานประเพณีว่า " สมมาน้ำคืนเพ็ง เส็งประทีป " ตามภาษาถิ่นมีความหมายถึงการขอขมาพระแม่คงคาในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง ความพิเศษของงานมีการแสดง แสงสีเสียง ตำนานเมืองร้อยเอ็ด จัดให้มีการตกแต่งบริเวณเกาะบึงพลาญชัย (สถานที่จัดงาน) ให้เป็นเกาะสวรรค์ ตกแต่งสวยงาม ยิ่งใหญ่ มีขบวนกระทงอาเซียน มีการประกวดกระทงประทีปใหญ่ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การประกวดกระทงอนุรักษ์ธรรมชาติ การประกวดขบวนแห่กระทงประทีป 12 หัวเมือง ตามตำนานเมืองร้อยเอ็ด การประกวดรำวงสมมาน้ำคืนเพ็งเส็งประทีป การประกวดธิดาสาเกตนคร และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย
จังหวัดสกลนคร ในอดีตจะมีการลอยกระทงจากกาบกล้วย ลักษณะคล้ายกับการทำปราสาทผึ้งโบราณ เรียกงานนี้ว่าเทศกาลลอยพระประทีปพระราชทาน สิบสองเพ็งไทสกล
ภาคกลาง มีการจัดประเพณีลอยกระทงขึ้นทั่วทุกจังหวัด
-กรุงเทพมหานคร จะมีงานภูเขาทอง เป็นรูปแบบงานวัด เฉลิมฉลองราว 7-10 วัน ก่อนงานลอยกระทง และจบลงในช่วงหลังวันลอยกระทง
-จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการจัดงานประเพณีลอยกระทงกรุงเก่าขึ้นอย่างยิ่งใหญ่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ภายในงานมีการจัดแสดงแสง สี เสียง อย่างงดงามตระการตา
-จังหวัดตาก จะลอยกระทงขนาดเล็กทยอยเรียงรายไปเป็นสาย เรียกว่า "กระทงสาย"
-จังหวัดสุโขทัย มีประเพณี "เผาเทียน เล่นไฟ" โดยใช้พื้นที่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งตรงกับแหล่งโบราณที่เคยจัดกิจกรรมนี้เมื่อ 700 ปีที่แล้ว ภายในงานจะมีการแห่ขบวนแห่กระทง การเล่นพลุตะไล ไฟพะเนียง การแสดงแสงสีเสียง รวมถึงการเผาเทียน เล่นไฟ
ภาคใต้
อย่างที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนั้น ในจังหวัดอื่น ๆ ก็จะจัดงานวันลอยกระทงด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ในแต่ละท้องถิ่นยังอาจมีประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างกันไป และสืบทอดต่อกันเรื่อยมา
วันสำคัญเดือน พฤศจิกายน 2566
-วันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2566 วันคนพิการแห่งชาติ
-วันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน 2566 วันพระบิดาแห่งฝนหลวง / วันเบาหวานโลก
-วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2566 วันเกิดมิกกี้ เมาส์
-วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2566 วันส้วมโลก
-วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2566 วันกองทัพเรือ
-วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2566 วันขอบคุณพระเจ้า
-วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2566 Black Friday
-วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566 วันวชิราวุธ / วันประถมศึกษาแห่งชาติ
-วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 วันลอยกระทง / วันสาธารณสุขแห่งชาติ
วันพระเดือน พฤศจิกายน 2566
-วันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2566 (แรม 8 ค่ำ เดือน 11)
-วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2566 (แรม 14 ค่ำ เดือน 11)
-วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2566 (ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12)
-วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12)
ที่มา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม , wikipedia
ภาพจาก AFP