ทำ "ใบขับขี่สากล" ไม่ต้องจองคิวล่วงหน้า ใช้เอกสารอะไรบ้างเช็กเลยที่นี่!
กรมการขนส่งทางบก แจ้ง "ทำใบขับขี่สากล" สามารถนำ หลักฐานเข้ารับบริการได้โดยไม่ต้องจองคิวล่วงหน้า (walk in ) ใช้หลักฐานอะไรบ้าง มีค่าธรรมเนียมเท่าไร เช็กเลยที่นี่
กรมการขนส่งทางบก แจ้ง "ทำใบขับขี่สากล" สามารถนำ หลักฐานเข้ารับบริการได้โดยไม่ต้องจองคิวล่วงหน้า (walk in ) ใช้หลักฐานอะไรบ้าง มีค่าธรรมเนียมเท่าไร เช็กเลยที่นี่
นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ในปี 2566 หลังจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ได้คลี่คลายลง การดำรงชีวิตและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมกลับสู่สภาวะปกติ หลายๆประเทศได้มีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว รวมถึงมีประชาชนเดินทางไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศเพื่อเรียนหรือทำงาน ทำให้ประชาชนสนใจทำใบขับขี่สากลเพื่อการเช่ารถยนต์เพื่อท่องเที่ยวหรือขับรถยนต์ในต่างประเทศ ทั้งนี้ ใบขับขี่สากลที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามอนุสัญญา 2 ฉบับ นั่นคือ “อนุสัญญาเจนีวา 1949” และ “อนุสัญญาเวียนนา 1968” โดยรายละเอียดของอนุสัญญาดังกล่าวมีดังนี้
อนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ณ นครเจนีวา ค.ศ. 1949 หรือ อนุสัญญาเจนีวา 1949 มีอายุ 1 ปี นำไปใช้ได้ใน 102 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เป็นต้น
อนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ณ กรุงเวียนนา ค.ศ. 1968 หรือ อนุสัญญาเวียนนา 1968 มีอายุ 3 ปีนับแต่วันออกใบขับขี่สากล หรือเท่ากับอายุของใบขับขี่ภายในประเทศที่ผู้ถือมีอยู่ นำไปใช้ได้ 86 ประเทศ
เช่น บาห์เรน บราซิล เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น
สำหรับประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาทั้งสองฉบับ เช่น สหราชอาณาจักร อิตาลี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สวีเดน รวมถึงประเทศไทย สามารถใช้ใบขับขี่สากลที่ออกตามอนุสัญญาเวียนนา 1968 เพียงฉบับเดียวได้
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า ใบขับขี่ตามอนุสัญญาดังกล่าว มีส่วนสำคัญในการยกระดับความปลอดภัยทางถนนและมาตรฐานใบขับขี่รถของประเทศไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล ทั้งยังเพิ่มโอกาสที่ใบขับขี่ระหว่างประเทศของไทยจะได้รับการยอมรับให้สามารถนำไปใช้ในต่างประเทศ และประเทศไทยก็สามารถยอมรับใบขับขี่ระหว่างประเทศที่ออกโดยประเทศที่เป็นภาคีตามอนุสัญญา รวมถึงส่งเสริมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
สำหรับผู้ที่ต้องการขอรับใบขับขี่สากลสามารถเข้ารับบริการ ณ สำนักงานขนส่ง ได้โดยไม่ต้องจองคิวล่วงหน้า (walk in ) หรือจองคิวล่วงหน้าผ่าน แอปพลิเคชัน DLT Smart Queue และแจ้งรายชื่อประเทศที่ต้องการนำใบขับขี่สากลไปใช้ต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบความเกี่ยวข้องในการร่วมเป็นภาคีตามอนุสัญญา หรือสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเองที่ https://apps.dlt.go.th/ltpcenter/
หลักฐานที่ต้องใช้ในการขอรับใบขับขี่สากล (กรณีคนไทย) มีดังนี้
1.หนังสือเดินทาง (ฉบับจริง) ซึ่งยังไม่สิ้นอายุ
2.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับจริง) ซึ่งยังไม่สิ้นอายุ
3.ใบขับขี่ไทย (5ปี,ตลอดชีพ,ขนส่ง) (ฉบับจริง) ซึ่งยังไม่สิ้นอายุ
4.รูปถ่าย ขนาด 2 นิ้ว 2 รูป ไม่เคลือบมัน (รูปถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
หลักฐานที่ต้องใช้ในการขอรับใบขับขี่สากล (กรณีคนต่างชาติ) ได้แก่
1.หนังสือเดินทางและวีซ่า (ต้องไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยว เล่นกีฬา หรือเดินทางผ่านเมือง) (ฉบับจริงพร้อมสำเนา)
2.ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ที่รับรองโดยสถานทูต หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ฉบับจริง) หรือใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) หรือใบอนุญาตทำงานอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Work Permit) ที่แสดงรายละเอียด ที่อยู่ และยังไม่สิ้นอายุ หรือหลักฐานที่แสดงว่าเป็นผู้ได้รับการตรวจลงตราพิเศษ (Smart Visa) ที่รับรองโดยสถานทูต หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือองค์กรระหว่างประเทศออกให้ (ฉบับจริงพร้อมสำเนา)
3.ใบขับขี่ไทย (5ปี หรือ ตลอดชีพ) (ฉบับจริงพร้อมสำเนา) ซึ่งยังไม่สิ้นอายุ
4.รูปถ่าย ขนาด 2 นิ้ว 2 รูป ไม่เคลือบมัน (รูปถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
การทำใบขับขี่สากลสามารถมอบอำนาจได้ โดยเตรียมหลักฐานเพิ่มเติมได้แก่
1.ใบมอบอำนาจ
2.บัตรประชาชน ผู้รับมอบอำนาจ(ฉบับจริงพร้อมสำเนา)
3.หลักฐานของผู้มอบอำนาจที่จะใช้ในการขอรับใบขับขี่สากล (สำเนาพร้อมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง)ใบขับขี่สากลตามอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ
มีค่าธรรมเนียมพร้อมค่าคำขอรวม 505 บาทเท่ากัน โดยสามารถยื่นขอทำใบขับขี่สากลได้ที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-5 หรือสำนักงานขนส่งจังหวัดทุกแห่ง ทั้งนี้ การนำไปใช้ในต่างประเทศ กรมการขนส่งทางบกแนะนำว่าให้นำใบขับขี่ของประเทศไทยแสดงควบคู่กับใบขับขี่สากลด้วย
ภาพจาก AFP / กรมขนส่งฯ