รู้หรือไม่ “เหงื่อ” บอกภาวะโรคซึมเศร้าได้
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ “เหงื่อ” ตรวจหาภาวะความเครียดโรคซึมเศร้า แม่นยำ ทำง่าย รู้ผลเร็ว รักษาได้เร็ว
ตรวจคัดกรองหาความเสี่ยงผู้มีภาวะความเครียดป่วยโรคซึมเศร้า ด้วยการเก็บตัวอย่างของสารในเหงื่อ เป็นความสำเร็จจากงานวิจัยของคณะแพทย์ศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
โดยแนวคิดการทดลอง ใช้เหงื่อตรวจคัดกรองหาความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าและความเครียด เนื่องจากเหงื่อ มีสารระเหยที่สามารถวิเคราะห์แยกหาอาการป่วยได้ โดยกลุ่มทดลอง เป็นพนักงานดับเพลิง 1 พันกว่าคน
โดยทีมนักวิจัยจะใช้ก้านสำลีเก็บตัวอย่างเหงื่อบริเวณใต้รักแร้ 10-15 นาที และนำไปฉีดเข้าเครื่องวิเคราะห์ ซึ่งจะใช้เวลาในการวิเคราะห์ประเมินผลอีก 15 นาที ซึ่งเครื่องมือตรวจคัดกรองความเสี่ยงภาวะความเครียดและซึมเศร้า จะให้ค่าออกมาคล้ายแผนที่ แยกกลุ่มอาการผู้ป่วยเป็นกลุ่มๆ เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หรือ กลุ่มมีภาวะความเครียดเสี่ยงป่วยซึมเศร้า ซึ่งจากการทดลองที่ผ่านในกลุ่มตัวอย่าง อาชีพนักดับเพลิงให้ผลแม่นยำกว่าร้อยละ 90
ผศ.ชฎิล กุลสิงห์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมวิจัย ก็บอกว่า สารเคมีในเหงื่อมนุษย์ มีมากกว่า 50 – 100 ชนิด ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และมีสารบางตัวที่มีความสัมพันธ์ กับโรคบางโรค จากนั้นเมื่อเรานำสารชนิดนั้นไปวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง ก็สามารถเชื่อมโยงได้ว่า เจ้าของเหงื่อนั้นเป็นโรคอะไร ซึ่งโรคซึมเศร้าก็เป็นหนึ่งในนั้น
ขณะที่ พญ.ภัทราวลัย สิรินารา ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย บอกว่า การทำแบบทดสอบสุขภาพจิตประจำปีของหน่วยงานต่างๆ อาจมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากผู้ทดสอบอาจจะจำคำตอบของปีที่ผ่านมาได้ หรือ แม้แต่การตอบคำถามเอาใจหน่วยงานเพื่อให้ดูดี ไม่กระทบต่อหน้าที่การงาน แต่การตรวจคัดกรองหาความเสี่ยงภาวะความเครียดและป่วยซึมเศร้าด้วยเหงื่อ นั้นมีความแม่นยำสูง ทำได้ง่าย รู้ผลเร็ว ทำให้สามารถส่งตัวให้จิตแพทย์วินิจฉัย และรักษาได้อย่างทันท่วงที
สำหรับการวิจัยพัฒนาเครื่องมือคัดกรองผู้ป่วยซึมเศร้าจากสารเหงื่อ เป็นการต่อยอดการวิจัยพัฒนามาจากเครื่องมือตรวจคัดกรองโควิด โดยคณะวิทยาศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ตั้งเป้าที่จะนำข้อมูลจากการวิจัยไปพัฒนาขยายไปถึงการวิเคราะห์ความเสี่ยงอาการป่วยโรคอื่นๆจากเหงื่อด้วย
สำหรับความสำเร็จตรวจคัดกรองความเครียดซึมเศร้าจากเหงื่อในกลุ่มอาชีพนักดับเพลิงที่ค่อนข้างแม่นยำ ขณะนี้อยู่ระหว่างทดลองเก็บตัวอย่างในกลุ่มอาชีพพยาบาล อนาคตจะขยายให้ประชาชนทั่วไป สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองความเสี่ยงความเครียดโรคซึมเศร้าจากเหงื่อได้อีกด้วย