TNN ครม. วาระพิเศษ มอบหมายให้ “ภูมิธรรม เวชยชัย” ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี

TNN

การเมือง

ครม. วาระพิเศษ มอบหมายให้ “ภูมิธรรม เวชยชัย” ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี

ครม. วาระพิเศษ มอบหมายให้ “ภูมิธรรม เวชยชัย” ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี

ที่ประชุมครม. วาระพิเศษ 15 สิงหาคม 2567 มีมติมอบหมายให้ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี

วันนี้ (15 สิงหาคม 2567) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้เป็นวาระพิเศษ สืบเนื่องมาจากการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกรณีนายกรัฐมนตรี โดยมติคณะรัฐมนตรีเรื่องแรก คือ คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงเป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 


คณะรัฐมนตรีที่เหลือจึงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา 168 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามมาตรา 10 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2545 บัญญัติให้ในระหว่างที่คณะรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นมาจะเข้ารับหน้าที่ โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง 


คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ดังนั้น เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง จึงได้มีมติมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชชัย เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี

 

นายภูมิธรรม ฯ ยังกล่าวอีกว่า คณะรัฐมนตรียังได้เห็นชอบตามแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี กรณีศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 170 (4) ดังนี้


1) สถานะของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

1.1 สิ้นสุดลงแต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ไม่เรียกว่ารักษาการ และได้รับเงินเดือนแต่ยังไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 168 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

1.2 คณะรัฐมนตรียังคงมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศเท่าที่จำเป็นทุกประการ กรณีนี้มีสถานการณ์คุกคามความมั่นคงของชาติย่อมมีอำนาจหน้าที่ที่จะประกาศมาตรการเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติได้ เช่น ประกาศภาวะฉุกเฉินหรือประกาศกฎอัยการศึก เป็นต้น

1.3 การลงชื่อตำแหน่งของรัฐมนตรียังคงลงชื่อในตำแหน่งเดิมมิใช่เป็นการรักษาการหรือรักษาการในตำแหน่ง

1.4 ตำแหน่งข้าราชการการเมืองที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วยทั้งหมด

1.5 ให้คณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ประจำรองนายกรัฐมนตรี ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

2) หลักการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี

2.1 เรื่องที่เป็นนโยบายซึ่งมีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ไม่ควรพิจารณา

2.2 เรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนหรือเรื่องที่ต่อเนื่องให้พิจารณาดำเนินการเป็นเรื่อง ๆ ไป นอกจากนั้นยังมีแนวทางการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีในส่วนของรายละเอียดทางนายวิษณุ เครืองาม จะเป็นชี้แจงต่อสื่อมวลชนต่อไป





ภาพจาก รัฐบาลไทย

 


ข่าวแนะนำ