รัฐบาล ยืนยันธุรกิจร้านอาหารปิดกิจการมากถึง 50% ไม่เป็นความจริง
รัฐบาลยืนยันธุรกิจร้านอาหารปิดกิจการถึง 50% ไม่เป็นความจริง การจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารไทยใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 13 สิงหาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อกรณีที่เป็นกระแสความสงสัยในสังคมว่าทุนจากต่างประเทศเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยทำให้คนไทยเสียผลประโยชน์นั้น ขอให้ทุกฝ่ายในสังคมพิจารณาอย่างถ้วนถี่โดยใช้หลักการและเหตุผล โดยขอชี้แจงตามข้อมูลจากหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
ต่อกรณีการเข้ามาของกลุ่มทุนต่างประเทศในธุรกิจร้านอาหาร และมีการกล่าวอ้างว่า ธุรกิจร้านอาหารปิดกิจการถึง 50% นั้น ไม่เป็นความจริง แม้ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลาย แต่ยังมีการจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารไทยใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ไทยมีนิติบุคคลดำเนินธุรกิจร้านอาหารอยู่ 23,414 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก 97.46% (22,819 ราย)
ช่วง 7 เดือน (มกราคม - กรกฎาคม 2567) มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารใหม่ 2,472 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวและหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 926 ราย ชลบุรี 258 ราย ภูเก็ต 192 ราย เชียงใหม่ 165 ราย และสุราษฎร์ธานี 122 ราย
กระทรวงพาณิชย์ได้ดูแลช่วยเหลือภาคธุรกิจร้านอาหาร ด้วยการเสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการร้านอาหารของไทยสามารถปรับตัว แสวงหาโอกาส และรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยให้ร้านอาหารเข้าถึงและเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจับมือผู้เชี่ยวชาญธุรกิจร้านอาหารร่วมกันสร้างสรรค์ 7 กิจกรรม ดังนี้
1) ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจร้านอาหารอย่างมืออาชีพ ผ่านหลักสูตร Smart Restaurant Plus ปัจจุบันมีร้านอาหารผ่านการพัฒนาจากกรมแล้วกว่า 3,000 ราย 2) ยกระดับมาตรฐานร้านอาหารไทยผ่านตราสัญลักษณ์ Thai SELECT
3) กระตุ้นยอดขายเพิ่มรายได้ร้านอาหาร ผ่านแคมเปญ “เที่ยว ฟิน กิน Thai SELECT” โดยร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Soft Power อาหารไทย
4) ส่งเสริมช่องทางการตลาด ผ่านการจำหน่ายอาหารในงานเทศกาลอาหารต่างๆ และแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีชั้นนำ
5) เสริมสร้างการรับรู้ให้แก่ร้านอาหารไทยและตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ผ่านผู้ทรงอิทธิพลบน Social Media (Influencer)
6) การเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวกับร้านอาหาร โดยได้นำร่องแล้ว 10 เส้นทาง อาทิ จ.นครราชสีมา เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น และมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นให้ครบทุกภูมิภาคต่อไป
7) สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการร้านอาหาร ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจของผู้ประกอบร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเพิ่มคู่ค้าและต่อยอดธุรกิจ
นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมากขึ้น โดยนำกิจการมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น
ภาพจาก รัฐบาลไทย
ข่าวแนะนำ